“เจ้านาย” เป็นสิ่งที่ต้องอยู่คู่กับ “ลูกน้อง” ขาดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ คนทำงานที่เป็นลูกน้องส่วนใหญ่มักจะมีเรื่องกินแหนงแคลงใจกับหัวหน้าอยู่เสมอ เพราะหัวหน้าลูกน้องเปรียบเสมือนลิ้นกับฟันที่อยู่ติดกัน ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ปัญหามีทั้งสองฝ่าย หัวหน้ามองว่าลูกน้องบางคนไม่เก่ง ไม่ขยัน ฯลฯ ในขณะที่ลูกน้อง(เกือบทุกคน)มักจะมองว่าหัวหน้าใช้งานหนัก เอาเปรียบลูกน้องสั่งอย่างเดียว ไม่ค่อยทำอะไร ดีแต่ทวงงาน ไม่รู้งาน หรือเอาแต่รับปากผู้บริหารอย่างเดียว(ประเภท Yes man)



ไม่อยากสาธยายปัญหาของลูกน้องที่มีต่อหัวหน้าให้มากไปกว่านี้ เพราะพูดไปก็ถูกทุกข้อ แต่สิ่งที่อยากจะแนะนำคือ ถ้าเรามีปัญหากับหัวหน้าหรือหัวหน้ามีปัญหากับเรา(จริงๆก็มีค่าเท่ากันแหละครับ) เราควรจะทำอย่างไร ขอแนะนำวิธีการดังต่อไปนี้





เปลี่ยนจากการคิดลบเป็นคิดกลางๆหรือคิดบวก คนกำลังโกรธ เกลียดกันอยู่ จู่ๆมาบอกให้คิดเป็นกลางหรือคิดบวกคงจะทำได้ยาก แต่ขอยืนยันว่าทำได้ โดยวิธีการดังนี้ ให้ไปลดความคาดหวังจากหัวหน้าลงมาเท่ากับเพื่อนร่วมงานหรือลูกน้องของเรา(ถ้ามี) เหตุผลหนึ่งที่เราไม่พอใจหัวหน้ามากก็เพราะเราไปคาดหวังว่าคนที่เป็นหัวหน้าควรจะเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ แต่พอเขาไม่เป็นไปตามที่เราคาดหวัง เราก็ผิดหวัง เราไปแก้ที่ตัวหัวหน้าไม่ได้ก็มาแก้ที่ระดับความคาดหวังของเราลง หรือการลดความคิดลบอีกวิธีหนึ่งก็คือ “การให้อภัย” หัวหน้าที่เราคิดว่าเขาไม่ดี เปลี่ยนความโกรธเป็นความสงสาร เห็นใจ(โธ่…เป็นถึงหัวหน้าภาวะผู้นำมีแค่นี้เองหรือ จบการศึกษาก็สูงแต่ทำตัวเหมือนคนไม่มีการศึกษา ฯลฯ) ยิ่งคิดให้สถานะของหัวหน้าต่ำลงมาเท่าไหร่ เรายิ่งมีจิตใจที่คิดให้อภัยมากยิ่งขึ้น ถ้าใครทำได้มากกว่าการเปลี่ยนทัศนคติหรือความคิดเชิงลบมาเป็นกลาง ก็ควรจะคิดเชิงบวกต่อหัวหน้า เช่น ก็ดีเหมือนกันที่หัวหน้าทำอะไรไม่เป็นเราจะได้เก่งอยู่คนเดียว ดีเหมือนกันที่หัวหน้าจุกจิกจู้จี้ เพราะถ้าเราผ่านหัวหน้าคนนี้ไปได้ เราจะเจอหัวหน้าแบบไหนก็ได้



คิดถึงผลประโยชน์ตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก ถ้าเรามีปัญหากับหัวหน้าเมื่อไหร่ กรุณาคิดถึงอนาคตของตัวเองให้มากที่สุด ยิ่งเราคิดเห็นแก่ตัวมากเท่าไหร่ ความสำคัญของคนรอบข้างอย่างหัวหน้าก็จะลดความสำคัญลงไป เมื่อไหร่ที่เรายังแคร์คนรอบข้างโดยเฉพาะหัวหน้า เราก็จะเป็นทุกข์มากยิ่งขึ้น ถ้าทนไม่ไหวจริงๆก็ขอให้คิดว่าเราทำงานทุกวันนี้เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ไปสมัครงานที่อื่น และจงมุ่งมั่นทำงานเก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้มากที่สุด อย่าเปลี่ยนความโกรธความแค้นเป็นการประชดโดยการทำงานน้อยลง อู้งาน ลางานเพราะเบื่อ หรือทำตามสั่ง เพราะถ้าเราประชดด้วยวิธีการเหล่านี้ คนที่เสียไม่ใช่หัวหน้า ไม่ใช่งาน แต่อนาคตของเราต่างหากที่เสียมากกว่าเพราะถ้าเราปล่อยให้อายุตัวและอายุงานผ่านไปแบบไม่ได้อะไรใส่ตัว วันหน้าเราไปสมัครงานที่ไหนเราก็จะมีแต่อายุตัวและอายุงาน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว องค์กรที่เขาจะรับเราเข้าทำงาน เขารับเพราะประสบการณ์และความรู้ที่เรามีอยู่มากกว่าอายุงานและอายุตัว เมื่อไหร่ไม่พอใจหัวหน้า จงหันมาทำงานให้มากขึ้นหนักขึ้น เพื่อจะได้เก่งเร็วขึ้น จะได้ไปอยู่ที่อื่นได้เร็วขึ้น



แข่งขันความก้าวหน้าในอาชีพกับหัวหน้า ถ้าไม่สามารถไปแก้ไขอะไรให้หัวหน้าดีขึ้นในสายตาของเราได้ กรุณาเปลี่ยนหัวหน้ามาเป็นคู่แข่งทางอาชีพน่าจะดีกว่า ให้คิดไว้ในใจ(อย่าคิดออกมาดังๆนะครับ)ว่าอีกสามปีห้าปี เราจะต้องก้าวหน้าในอาชีพดีกว่าสูงกว่าหัวหน้า ดังนั้น ทุกวันเราก็จะให้เวลากับการพัฒนาตนเองเก็บเกี่ยวประสบการณ์มากกว่าการให้เวลากับการเสียอารมณ์เสียความรู้สึกกับการกระทำของหัวหน้า



อย่านำเอาเรื่องหัวหน้าไปพูดต่อให้คนอื่นฟัง ลูกน้องส่วนใหญ่ชอบเอาเรื่องปัญหาของหัวหน้าไประบายให้คนอื่นฟัง ดูเหมือนว่าเราได้ระบาย แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่งแล้วมันคือการตอกย้ำปัญหาในใจของเราให้ลึกลงไปเรื่อยๆ ยิ่งเล่าให้คนอื่นฟังมากขึ้นเท่าไหร่ บ่อยเท่าไหร่ เรื่องนี้จะถูกตอกย้ำลงในส่วนลึกของใจเรามากขึ้น โอกาสที่จะลืมเรื่องนี้ไปทำได้ยากขึ้น มันจะจำแม่นและจำนาน เพราะเราดึงมันขึ้นมาเล่าให้คนอื่นฟังบ่อย สิ่งที่อยากจะแนะนำคือกรุณาเล่าให้เฉพาะคนบางคนที่เราคิดว่าเราไว้ใจและเขาให้คำปรึกษาเราได้เท่านั้น และพยายามเล่าเรื่องในใจของเราออกมาให้น้อยครั้งที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ เพื่อป้องกันการตอกย้ำดังกล่าว เมื่อไหร่ที่เราให้ความสนใจกับเรื่องปัญหาหัวหน้าน้อยลง เล่าให้คนอื่นฟังน้อยลง เรื่องนี้ก็จะถูกใจเราลืมไป เมื่อเวลาผ่านไปเรื่องนี้ก็จะจางหายไปเองตามกาลเวลา ปัญหาของหัวหน้าเปรียบเสมือนข่าวในหนังสือพิมพ์รายวันนั่นแหละครับ ถ้ามีการพาดหัวข่าวทุกวัน โอกาสที่กระแสข่าวจะจางหายไปมีน้อย แต่ถ้าข่าวไหนขึ้นมาวันเดียวแล้วหายไปเลย คนก็จะลืมๆกันไปเอง

ณรงค์วิทย์ แสนทอง