สมบัติล้ำค่าในท้องพระคลัง  กรุงศรีอยุธยาส่วนหนึ่งยังคงถูกฝังอยู่ใต้ดิน หนีพม่า




เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ครั้งที่ 2 เมื่อพุทธศักราช 2310 นั้น
สมบัติล้ำค่าในท้องพระคลังกรุงศรีอยุธยาได้ถูกพม่านำกลับไป
พม่าทั้งหมดหรือไม่ ซึ่งเป็นที่เคลือบแคลงมาจนถึงทุกวันนี้
มาถึงวันนี้ พอจะเริ่มมีคำตอบบ้างแล้ว ขอให้ท่านได้ใช้วิจารณญาณ
พิจารณา

1
พระราชวังโบราณกรุงศรีอยุธยา มีพระคลังอยู่จำนวนมากน้อย
เพียงใด

นิตยสารสารคดี ฉบับเดือน เมษายน 2548 เรื่อง "ทวนธารกาลเวลา
ตามหาเครื่องทองกรุงศรีฯ" โดย วีระศํกดิ์ จันทร์ส่งแสง หน้า 61
พอจะให้คำตอบคร่าว ๆ ได้บ้างถึงแม้จะไม่ใช่อยุธยาตอนปลายก็ตาม
โดยระบุไว้ว่า

"กษัตริย์สยามมีพระคลังอยู่ 8-10 ท้องพระคลัง แต่ละคลังมีไหเป็น
จำนวนมาก ใช้บรรจุเงินเหรียญและทองคำแท่ง วางซ้อนกันจนถึง
หลังคา มีเครื่องสุพรรณภาชน์หลายสิบชุด ใช้สับเปลี่ยนยังที่ตั้ง
เสวยและที่โรงช้างเผือก"

และในหน้า 71 ระบุว่า สมบัติล้ำค่าส่วนมากเป็นทองคำนั้น
เนื่องจากราชอาณาจักรสยามตั้งอยู่ในเขตสุวรรณภูมิ อันได้ชื่อว่า
เป็นดินแดนแห่งทองคำ และยังเป็นเมืองท่าศูนย์กลางการค้า
มีสินค้าหลากชนิดหมุนเวียนเข้าออก ทองคำ เป็นหนึ่งในรายการ
สินค้าสำคัญที่มีการค้าขายกันมาก
นอกจากนี้ สยามยังเป็นศูนย์กลางอำนาจที่ได้ราชบรรณาการ
ต้นไม้เงินต้นไม้ทองจากแว่นแคว้นต่าง ๆ ถึง 20 เมือง ...


2
เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ครั้งที่ 2 นั้น พม่าได้กวาดต้อน
ใครไปพม่าบ้าง และมีข้าราชการไทยชั้นผู้ใหญ่หรือไม่

เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ครั้งที่ 2 เมื่อพุทธศักราช 2310 นั้น
จากหนังสือ "คำให้การชาวกรุงเก่า" ฉบับพิมพ์ของสำนักพิมพ์
จดหมายเหตุ พ.ศ. 2544 ก็ได้ระบุไว้ในหน้าต้นว่า

"พระเจ้าอังวะ" ให้บันทึกปากคำบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการไทย
ที่ถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลย เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ครั้งที่ 2
พ.ศ. 2310

และในหน้า 165 ระบุอีกว่า

"พวกพม่าก็ตามจับได้พระมเหสี แลพระโอรสธิดา พระราชวงศานุ
วงศ์ แล้วให้กวาดต้อนผู้คนช้างม้า เก็บริบแก้วแหวนเงินทองไปยัง
กรุงอังวะเปนอันมาก"


3
ชาวบ้านถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลย แต่บางคนหนีรอดมาได้

มีเรื่องบอกเล่าสืบเนื่องต่อ ๆ กันมาว่า ระหว่างที่ชาวบ้านถูกกวาด
ต้อนไปพม่าไปเป็นเชลยนั้น ระหว่างทางผ่านป่า ชาวบ้านบางคน
หนีเอาตัวรอดไปหลบซ่อนในป่า บางคนไปซ่อนในโพรงไม้ก็มี
พม่าไม่เห็นก็ผ่านเลยไป ชาวบ้านจึงหนีกลับมาได้ และมาเล่าให้
ลูกหลานฟังและเล่าต่อ ๆ กันมาจนทุกวันนี้

4
สมบัติล้ำค่าในท้องพระคลังกรุงศรีอยุธยาส่วนหนึ่ง ยังคงถูกฝังอยู่
ใต้ดินหนีพม่า (เรื่องนี้ ยังไม่เคยเปิดเผย ณ ที่ใดมาก่อน)

มีเรื่องบอกเล่าเรื่องหนึ่งว่า พระยาพระคลัง เป็นข้าราชการไทย
ชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่ง ที่ได้ถูกพม่าจับไปเป็นเชลยที่พม่าด้วย หลัง
จากตกเป็นเชลยอยู่นานพอสมควร บุตรชายพระยาพระคลังได้
คิดถึงและเป็นห่วงบิดามาก จึงได้ออกบวชเป็นพระภิกษุและเดิน
ธุดงค์ไปตามหาโยมบิดาที่พม่า รอนแรมเป็นแรมเดือนจนพบ

หลังจากที่ได้คุยสารทุกข์สุกดิบอยู่พอสมควร ก่อนเดินทางกลับ
พระยาพระคลัง ได้บอกกับพระภิกษุบุตรชายว่า

"เมื่อก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะแตกนั้น ได้นำสมบัติในท้องพระคลัง
จำนวนหนึ่ง ไปฝังไว้ในบ่อน้ำ ซึ่งไม่ไกลจากพระราชวังมาก แล้ว
ก่อนที่จะกลบ ได้นำไม้กระดานมาปูทับและนำปืนใหญ่ จำนวน 2
กระบอก มาปิดทับ แล้วจึงกลบดิน"

(พระยาพระคลัง ได้บอกรายละเอียดแก่พระภิกษุบุตรชายทั้งหมด
โดยบอกสถานที่ที่นำสมบัติล้ำค่าไปฝังดินซ่อนไว้ บอกถนน และ
ทิศ อย่างละเอียด แต่ขอปิดเป็นความลับไว้ก่อน)


5
ทราบข้อมูลนี้ได้อย่างไร และน่าเชื่อถือหรือไม่เพียงใด

พระภิกษุบุตรชายพระยาพระคลัง หลังจากได้เดินทางกลับมา
กรุงศรีอยุธยาแล้ว ท่านก็ไม่ได้ไปขุดหาสมบัตินั้นเลย เพราะท่าน
ได้สละทุกสิ่งทุกอย่างทางโลกหมดแล้ว เวลาล่วงเลยไปนาน จน
ท่านชราภาพมาก จึงนึกขึ้นได้ มาบอกแก่พระครูปั้น วัดพิกุล
อยุธยา ให้ทราบเรื่องนี้

พระครูปั้น ก็เช่นเดียวกัน ได้มาเล่าให้ พระครูโวทานธรรมาจารย์
(หวาด สุธัมโม) อดีตเจ้าอาวาสวัดดาวดึงษาราม เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า
ฝั่งธนบุรี ฟัง ซึ่งเมื่อวัยเยาว์ อายุได้ 8 ปี ท่านได้ไปอยู่กับพระอาจารย์
รอด วัดพิกุล ซึ่งเป็นวัดใกล้บ้านแต่อยู่คนละฝั่งแม่น้ำ และเมื่อตอน
ที่พระครูโวฯ อุปสมบทเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2440 ที่วัดศาลาปูน
อยุธยา นั้น มี พระครูปั้น วัดพิกุล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และท่าน
เป็นคนบ้านคลัง อยุธยา เหมือนกัน

ท่านพระครูโวฯ เป็นนักเทศน์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วประเทศ จนได้
ฉายาว่า "ปู่นักเทศน์" พระครูโวทานฯ ได้มรณภาพไปนานแล้ว ตอน
ที่หลวงปู่อาพาธก่อนจะมรณภาพ ท่านได้เล่าเรื่องนี้ให้ลูกศิษย์ก้นกุฏิ
ของท่านทราบ เพียงไม่กี่คนเท่านั้น

(จากหนังสือ "เก็บตกจากธรรมาสน์ หลวงปู่โว" พระครูโวทานธรรมาจารย์
ท่านเกิดเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2419 และมรณภาพ เมื่อวันที่ 30 มกราคม
2503 รวมอายุได้ 83 ปีเศษ)




เรื่องนี้เป็นเรื่องประวัติศาสตร์ชาวบ้าน หรือคำบอกเล่า ที่ได้รับรู้รับทราบ
ต่อเนื่องกันมานานจนถึงปัจจุบันนี้ ขอให้ท่านผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณ
ว่าน่าเชื่อถือได้หรือไม่เพียงใด หากน่าเชื่อถือ ก็จะได้แจ้งให้กรมศิลปากร
พิจารณาความเป็นไปได้ และหาทางตรวจสอบความจริงกันต่อไป


เอกสารอ้างอิง : 1. นิตยสารสารคดี ปีที่ 21 ฉบับที่ 242 เมษายน 2548
2. สำนักพิมพ์จดหมายเหตุ , คำให้การชาวกรุงเก่า , 2544
3. สำรวย นักการเรียน และ สมศักดิ์ เทียนบูชา, เก็บตกจาก
ธรรมาสน์ หลวงปู่โว , 2544

ภาพ : จากนิตยสารสารคดี เรียบเรียง สาวชัยภูมิ ลูกพ่อขุน