กำลังแสดงผล 1 ถึง 2 จากทั้งหมด 2

หัวข้อ: ประเพณีงานบุญ 12 เดือน ของชาวอีสาน (6 เดือนแรก)

  1. #1
    บ่าวเต็งคนโก้
    Guest

    ประเพณีงานบุญ 12 เดือน ของชาวอีสาน (6 เดือนแรก)

    เดือนอ้าย เป็นระยะอากาศหนาวชาวบ้านจะจัดสถานที่แล้วนิมนต์พระสงฆ์เข้ากรรม การเข้ากรรมของพระนั้นคือการเข้าอยู่ประพฤติวัตรโดยเคร่งครัดชั่วระยะหนึ่ง ในป่าหรือป่าช้า การอยู่กรรมเรียกตามบาลีว่า"ปริวาส" เพื่อชำระจิตใจที่มัวหมองปลดเปลืองอาบัติ สังฆาทิเสส ซึ่งเป็นอาบัติหนักเป็นที่ 2 รองจากปาราชิก ฝ่ายชาวบ้านก็ได้ทำบุญในโอกาสนั้นด้วย
    "เถิงเมื่อเดือนเจียงเข้ากลายมาแถมถ่าย ฝูงหมุ่สังฆเจ้าเตรียมเข้าอยู่กรรม"

    เดือนยี่ ทำบุญคูณลาน คือเก็บเกี่ยวแล้ว ขนข้าวขึ้นสู่ลาน นวดข้าวแล้ทำข้าวเปลือกให้เป็นกองสูงเหมือนจอมปลวก เรียกว่า "กุ้มเข้า" เหมือนก่อเจดีย์ทรายนั่นเอง แล้วทำพิธีบวงสรวงเจ้าแม่โภสพ นิมนต์มาสวดมนต์ทำบุญลาน บางคนก็เทศน์เรื่องนางโภสพฉลอง บางคนก็มีพิธีสู่ขวัญข้าวก่อนจึงจะขนข้าวขึ้นสู่ยุ้งฉาง เสร็จแล้วก็ทำพิธีเลี้ยงเจ้าที่หรือตาแฮก และเก็บฟืนไว้เพื่อหุงต้มอาหารต่อไป
    "พอเมื่อเดือนยี่ได้ล้ำล่วงมาเถิง ให้พากันหาฟืนสู่คนโฮมไว้"

    เดือนสาม ทำบุญข้าวจี่ วันเพ็ญเดือน 3 เป็นวันมาฆบูชา รุ่งขึ้นวันแรม 1 ค่ำก็ถวายข้าวจี่ เรียกว่าวันทำบุญเนื่องในวันมาฆบูชานั่นเอง ข้าวจี่คือเอาข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อนเอาไม้เสียบย่างไฟเหมือนไก่ย่าง เมื่อข้าวสุกเกรียมแล้วก็เอาไข่ซึ่งตีไว้แล้วทาแล้วย่างซ้ำอีกกลายเป็นไข่เคลือบข้าวเหนียว เสร็จแล้วถอดไม้ออกแล้วเอาน้ำอ้อยหรือน้ำตาลที่เป็นก้อนยัดใส่แทนกลายเป็นข้าวเหนียวยัดไส้ แล้วถวายพระเณรฉันตอนเช้า ส่วนมากชาวบ้านจะรีบทำแต่เช้ามืด พอสว่างก็ลงศาลาการเปรียญ (ชาวบ้านเรียกหัวแจก) นิมนต์พระเณรสวดแล้วฉัน เป็นทั้งงานบุญและงานรื่นเริงประจำแต่ละหมู่บ้าน เพราะได้ทำข้าวจี่ไปถวายพระหลังจากพระฉันแล้วก็เลี้ยงกันเองสนุกสนาน มีคำพังเพยอีสานว่า
    "เดือนสามค้อยเจ้าหัวคอยปั้นเข้าจี่ เข้าจี่บ่ใส่น้ำอ้อยจัวน้อยเช็ดน้ำตา"
    เดือนนี้ชาวนาส่วนใหญ่ถือกันตั้งแต่โบราณมาว่าเป็นเดือนสู่ขวัญข้าว คือมีการถวายข้าวเปลือกพระและนิยมทำบุญบ้าน สวดมนต์เสร็จพิธีสงฆ์ แล้วก็สู่ขวัญข้าวตามธรรมเนียมพราหมณ์ บางบ้านก็ทำเล็กน้อยพอเป็นพิธี คือเอาข้าวไปถวายสงฆ์แล้วทำพิธีตุ้มปากเล้าเล็กน้อยเป็นการบูชาคุณของข้าวในเล้าหรือยุ้ง
    "เถิงเมื่อเดือนสามได้จงพากันทำเข้าจี่ ไปถวายสงฆเจ้าเอาแท้หมู่บุญ"

    เดือนสี่ ทำบุญมหาชาติ ทุกวัดพอถึงเดือน 4 ก็จะมีการเทศน์มหาชาติ ชาวอีสานนิยมเรียกว่า "บุญผเวส" (พระเวสสันดร) มีคำพังเพยว่า
    "เดือนสามค้อยเจ้าหัวคอยปั้นเข้าจี่ เดือนสี่ค้อยจัวน้อยเทศน์มะที (มัทรี)"
    แต่การกำหนดเวลาก็ไม่ถือเด็ดขาด อาจจะเป็นปลายเดือนสาม หรือต้นเดือนห้าก็ได้ การเทศน์มหาชาติของอีสานผิดจากภาคกลางหลายอย่างเช่น การนิมนต์เขาจะนิมนต์พระวัดต่างๆ 10-20 วัดมาเทศน์ โดยแบ่งคัมภีร์ออกได้ถึง 30-40 กัณฑ์ เทศน์ตั้งแต่เช้ามืดและให้จบในวันเดียว พระในวัดถ้ามีมากก็จะเทศน์รูปละกัณฑ์สองกัณฑ์ ถ้าพระน้อยอาจจะเทศน์ถึง 5 กัณฑ์ การแบ่งซอยให้เทศน์หลายๆ กัณฑ์ก็เพื่อให้ครบกับจำนวนหลังคาบ้าน ถ้าหมู่บ้านนี้มี 80 หลังคาเรือน ก็อาจจะแบ่งเป็น 80 กัณฑ์ โดยรวมเอาเทศน์คาถาฟันมาลัยหมื่น มาลัยแสน ฉลองมหาชาติด้วยเพื่อให้ครบจำนวนโยมผู้เป็นเจ้าของกัณฑ์ แต่บางบ้านอาจจะขอรวมกับบ้านอื่นเป็นกัณฑ์เดียวกันก็ได้ และเวลาพระเทศน์ก็จะมีกัณฑ์หลอนมาถวายพิเศษอีกด้วย คือหมู่บ้านใกล้เคียงจะรวบรวมกัณฑ์หลอนคล้ายผ้าป่าสมัยนี้ แห่เป็นขบวนกันมา มีปี่ มีกลองก็บรรเลงกันมา ใครจะรำจะฟ้อนก็เชิญ แห่รอบศาลาการเปรียญ 3 รอบ แล้วก็นำไปถวายพระรูปที่กำลังเทศน์อยู่ขณะนั้นเลย เรียกว่ากัณฑ์หลอนเพราะมาไม่บอก มาโดนใครก็ถวายรูปนั้นไปเลย เรื่องกัณฑ์หลอนนับเป็นประเพณีผูกไมตรีระหว่างหมู่บ้านได้ยิ่งดี เพราะเรามีเทศน์เขาก็เอากัณฑ์หลอนมาร่วม เขามีเราก็เอาไปร่วมเป็นการสนองมิตรจิตมิตรใจซึ่งกันและกันได้ทั้งบุญได้ ทั้งมิตรภาพ ได้ทั้งความสนุกเฮฮา รำเซิ้ง แม้แต่ในหมู่บ้านนั้นเองก็มีกลุ่มหนุ่มสาว กลุ่มบ้านเหนือ กลุ่มคนแก่ กลุ่มขี้เหล้า หรือกลุ่มอะไรก็ได้ ร่วมกันทำกัณฑ์หลอนขึ้น แห่ออกไปวัดเป็นการสนุกสนาน ใครใคร่ทำทำ มีเงินทองข้าวของจะบริจาคได้ตลอดวัน จึงเห็นบุญมหาชาติของอีสาน เป็นงานที่ยิ่งใหญ่ประจำปี และถือกันว่าต้องทำทุกปีด้วย
    อนึ่งก่อนวันงาน 5-6 วัน หนุ่มสาวจะลงศาลานำดอกไม้ ประดับตกแต่งศาลาบริเวณวัดเป็นโอกาสที่หนุ่มจะได้คุยกับสาว ช่วยสาวทำดอกไม้สนุกสนานที่สุด นี้แหละคืออีสานที่น่ารัก

    เดือนห้า ทำบุญตรุษสงกรานต์ ประเพณีนี้ทำเหมือนๆกับภาคกลาง จะต่างกันก็ในเรื่องการละเล่นหรือการรดน้ำ สาดน้ำ สีกาอาจจะสาดพระสาดเณรได้ ไม่ถือ พระบางรูปกลัวน้ำถึงกับวิ่งก็มี บางแห่งสาวๆตักน้ำขึ้นไปสาดพระเณรบนกุฏิก็มี แต่การเล่นสาดน้ำนี้ไม่สาดเฉพาะวันตรุษเท่านั้น ระยะใกล้ๆกลางเดือนห้าสาดได้ทุกวัน บางปีเลยไปถึงปลายเดือนก็มีถ้าอากาศยังร้อนมากอยู่ นอกจากนี้ยังมีประเพณีสรงน้ำพระพุทธและพระสงฆ์ด้วย คือระยะกลางเดือนห้าอากาศร้อน สาวๆจะตักน้ำไปวัดสรงพระคือให้พระอาบและสรงพระพุทธรูปด้วย เมื่อประมาณ 30 ปีมานี้ ทุกวัดจะมีหอสรงอยู่ คือถึงเทศกาลนี้ก็อัญเชิญพระพุทธรูปไปตั้งในหอ ให้ชาวบ้านมาสรงกัน อากาศร้อนๆ เด็กๆ ก็ชอบเข้าไปเบียดกันใต้หอสรงรออาบน้ำสรงพระ ขลังดี ล้างโรคภัยได้ หอสรงเป็นไม้กระดานน้ำไหลลงใต้ถุนได้ เด็กก็เลยได้อาบน้ำสนุกสนานไปด้วย

    เดือนหก ทำบุญวิสาขบูชา และบุญบั้งไฟ นอกจากนี้ก็มีพิธีรดน้ำพระสงฆ์ยกฐานเป็น ยาซา ยาครู สำเร็จและบวชลูกหลาน

    [wma]http://wcs.hopto.org/_wma/_19/02%20%cd%d5%ca%d2%b9%e0%c1%d7%cd%a7%ba%d8%ad.wma[/wma]

    ปล . สายฟ้ามาแก้ไขครับ
    แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย pui.lab; 26-07-2009 at 00:18.

  2. #2
    นักการภารโรง สัญลักษณ์ของ บ่าวคนเดิม
    วันที่สมัคร
    Jan 2006
    ที่อยู่
    Amphoe Det Udom
    กระทู้
    3,148

    Re: ประเพณีงานบุญ 12 เดือน ของชาวอีสาน (6 เดือนแรก)

    โอ้ย..ปีนี้แล้งหลายพี่น้องดำนาแล้วบ่ทันเอาบุญเข้าพรรษาเลย......บ๊ะเข้าท่าแฮงบ่าวเต็ง
    ขอบพระคุณสมาชิกและทีมงานที่เคารพรักทุกท่าน

Tags for this Thread

กฎการส่งข้อความ

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •