คัมภีร์ใบลานกับพหุวัฒนธรรมผู้ไทบ้านกุดบอด
ภูมิหลังว่าด้วยชาติพันธุ์ผู้ไทบ้านกุดบอด
ผู้ไท เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาตะกูลไท-กะได (Tai-Kadai Language Family) อาศัยอยู่
ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศลาว เดิมชาวผู้ไทอพยพมาจากหัวพัน ทางภาคตะวันออก
เฉียงเหนือ และสิบสองจุไท ซึ่งปรากฏชื่อตามพงศาวดารล้านช้างว่า "เมืองนาน้อยอ้อยหนู" หรือ
"เมืองแถน" คำว่า แถน หรือ แถง ตรงกับคำว่า ถิ่น ในภาษากวางตุ้ง และตรงกับคำว่า เทียน ในภาษา
แต้จิ๋ว แปลว่า ฟ้า เมืองแถนจึงหมายถึง "เมืองฟ้า" ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า
เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ฝรั่งเศษได้เข้ายึดเมืองนาน้อยอ้อยหนู ได้อพยพชาวญวนเข้าไปเป็นจำนวนมาก
ชาวญวนจึงเปลี่ยนชื่อเรียกเมืองนี้เป็น "เมืองเดียนเบียนฟู" (ถวิล เกษรราช. ๒๕๑๒ : ๓๐-๓๑)
จากการสันนิษฐานเกี่ยวกับประวัติการย้ายถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไท สันนิษฐานว่า
ชาวผู้ไทมีการอพยพจากเมืองแถนมายังฝั่งซ้ายของลุ่มแม่น้ำโขงบริเวณเมืองวังและเมืองเซโปนใน
ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวปัจจุบัน ถวิล เกษรราช(๒๕๑๒ : ๓๘๙-๓๙๐)ได้
เขียนอธิบายการอพยพเข้ามาในบริเวณจังหวัดกาฬสินธุ์ของชาวผู้ไทว่า
หลังการปราบกบฎเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์แล้ว เมื่อจุลศักราช ๑๒๐๓ (พ.ศ.
๒๓๘๔) พระมหาสงครามแม่ทัพกรุงเทพ และเจ้าอุปราชเมืองเวียงจันทน์ ยก
กองทัพไปตีเมืองวังแตก เจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร และท้าวเพี้ย
ราษฎรพาครอบครัวหนีกองทัพไทยระส่ำระสาย พระมหาสงครามแม่ทัพ ได้
จัดให้ท้าวสายท้าวเพี้ยเมืองวังไปเกลี้ยกล่อมได้ราชวงศ์(กอ) บางฉบับว่าชื่อ วอ
และท้าวคองบุตรเจ้าเมือง ท้าวตั้วบุตรอุปฮาดเมืองวัง เข้ามาสวามิภักดิ์พา
ครอบครัวข้ามมาฝั่งโขงตะวันตกจำวน ๓,๐๐๓ คน ตั้งอยู่บ้านกุดฉิมนารายณ์
ขึ้นเมืองกาฬสินธุ์ จนถึงจุลศุกราช ๑๒๐๗ (พ.ศ.๒๓๘๘) พระบาทสมเด็จพระ
นั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านกุดฉิม
นารายณ์ ซึ่งตั้งอยู่ริมโบสถ์นารายณ์เก่าขึ้นเป็นเมืองกุดฉิมนารายณ์ และโปรด
เกล้าฯ ให้ราชวงศ์(กอ) เมืองวังเป็พระธิเบศวงศาเจ้าเมือง ให้ท้าวคอง(บางแห่ง
พิมพ์เป็นท้าวควง) เป็นอุปฮาด ท้าวตั้วเป็นราชวงศ์ ท้าวเนตรบุตรพระธิเบ
ศวงศา(กอ) เป็นราชบุตร
ส่วนประวัติความเป็นมาบ้านกุดบอดนั้นแม้จะไม่มีหลักฐานลายลักษณ์บันทึกไว้ แต่จากการ
สัมภาษณ์พระครูประจิตธรรมานุรักษ์ (๒๕๔๘ : สัมภาษณ์) เจ้าอาวาสวัดกกต้อง บ้านกุดบอด หมู่
๓ ตำบลสงเปลือย อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ความว่า ชาวผู้ไทที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ตำบล
สงเปลือยนี้ เดิมมีถิ่นฐานอยู่ที่บ้านกกต้อง เมืองวัง ปัจจุบันอยู่ในแขวงสะหวันนะเขตสาธารณรัฐ
ประชาธิปไตยประชาชนลาว ปี พ.ศ.๒๓๘๗ ได้อพยพหนีภัยสงครามเข้ามาอยู่ที่บริเวณอำเภอเรณูนคร
โดยการนำของพระภิกษุภูทา จากนั้นจึงมีการอพยพแยกเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มแรกไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้าน
โคกหินแฮ่ บริเวณอำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม อีกกลุ่มหนึ่งอพยพมาอยู่บ้านป่าไร่บนภูพานในปี
พ.ศ. ๒๓๙๖ จากนั้น ในปี พ.ศ. ๒๔๐๑ ได้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่จึงได้ย้ายลงมาจากภูพานมาอยู่ที่บ้านขี้
ตม ปี พ.ศ.๒๔๒๑ ได้อพยพมาที่บ้านดงเมื่อย ปัจจุบันคือบ้านนาวี ตำบลสงเปลือย อำเภอเขาวง
จังหวัดกาฬสินธุ์ ในปี พ.ศ. ๒๔๓๑ เกิดอุบาทว์เพลิงไหม้ในงานบุญมหาชาติ จึงได้ย้ายมาตั้งบ้านอยู่
ที่บ้านกุดบอด ในปี พ.ศ. ๒๔๔๒ จึงได้มีชาวผู้ไทกลุ่มหนึ่งอพยพจากบ้านกุดบอดกลับไปตั้งถิ่นฐาน
ที่บ้านนาวีดังเดิม อย่างไรก็ตามแม้ชุมชนแห่งใหม่จะใช้ชื่อว่ากุดบอดซึ่งตั้งตามภูมินามแหล่งน้ำ
ธรรมชาติในพื้นที่ แต่ยังคงใช้ชื่อวัดกกต้องตามชื่อเดิมของหมู่บ้านเดิมที่ได้อพยพมา


อักษรของชาวผู้ไท
สิ่งบ่งชี้อัตลักษณ์ของชาวผู้ไทที่ชัดเจนที่สุดคือภาษา ซึ่งภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไทนั้นจัด
อยู่ในกลุ่มภาษาตระกูลไท-กะได (Tai-Kadai Language Family) จากการศึกษาข้อมูลสนามพบว่า
ภาษาผู้ไทที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีเพียงภาษาพูดเท่านั้น ส่วนตัวอักษรที่ปรากฏใช้ในชุมชนพบเพียงหลักฐาน
คัมภีร์ใบลานที่มีเป็นจำนวนมากในหมู่บ้านต่าง ๆ ซึ่งมีการจารด้วย อักษรตัวธรรมอีสาน อักษรตัวไท
น้อย และ อักษรตัวขอม ถวิล เกษรราช(๒๕๑๒ : ๔๒๑) ได้อ้างถึงข้อความในพงศาวดารเมืองไล
ว่ามีการกล่าวถึงตัวอักษรผู้ไทว่า "...ตัวอักษรผู้ไทยขาวผู้ไทยดำนั้ก็มีเค้ามูลคล้ายกับตัวหนังสือฝ่าย
ลาวและฝ่ายไทยอย่างโบราณ..." ซึ่งแม้จะไม่ปรากฎรูปลักษณ์แต่ข้อความในพงศาวดารยังเป็น
หลักฐานยืนยันในการมีอยู่ของตัวอักษรผู้ไท นอกจากนี้ถวิล เกษรราช(๒๕๑๒ : ๔๒๓ - ๔๒๕) ยัง
ได้สัณนิษฐานถึงการไม่ปรากฏใช้อักษรผู้ไทของชาวผู้ไทในภาคตะวันออกเฉียง แต่ปรากฏการใช้
อักษรตัวธรรมอีสาน อักษรตัวไทน้อย และ อักษรตัวขอมแทน โดยลำดับเรื่องราวตามเหตุการณ์ทาง
ประวัติศาสตร์ว่า จากการลดขนาดและความสำคัญของเมืองแถน เป็นเมืองที่จะต้องส่งส่วยแก่เมือง
ใหญ่ได้แก่ จีน ญวน และลาวหลวงพระบาง เรียกว่าเป็นเมืองสามส่วยฟ้า หรือสามฝ่ายฟ้า ซึ่งภาวะ
แวดล้อมและเหตุผลทางสังคมในยุคนั้นน่าจะส่งผลให้ชาวผู้ไทเมืองแถนมีการศึกษาในวงจำกัด ต่อมา
เมื่อมีการอพยพมาอยู่บริเวณฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ณ เมืองวัง ซึ่งเป็นดินแดนของอาณาจักรล้านช้าง เจ้า
นครเวียงจันทน์ได้ตั้งท้าวก่า ผู้นำชาวผู้ไทเป็นพญา เป็นหัวหน้าปกครองชาวผู้ไทและได้ประทานนาง
ลาวสนมคนหนึ่งให้เป็นภริยา อีกทั้งได้ส่งพระครูมาจัดการศาสนาที่เมืองวัง เหตุผลนี้เองที่ทำให้ชาวผู้
ไทที่เมืองวังที่เดิมนับถือผีได้หันมานับถือพุทธศาสนา และน่าจะเป็นการเริ่มเรียนรู้อักษรตัวธรรม
อีสาน อักษรตัวไทน้อย และ อักษรตัวขอม ตามแบบอย่างของพระสงฆ์เวียงจันทน์ด้วย

บทบาทคัมภีร์ใบลานในพหุวัฒนธรรมชาวผู้ไท
จากการศึกษาเกี่ยวกับคัมภีร์ใบลานในพื้นที่ชุมชนบ้านกุดบอด หมู่ ๓ ตำบลสงเปลือย
อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ พบว่า คัมภีร์ใบลานบ้านกุดบอดมีการเก็บรวบรวมไว้ที่วัดกกต้องซึ่ง
เป็นวัดประจำหมู่บ้าน มีจำนวน ๓ หีบพระธรรมซึ่งยังไม่ได้สำรวจรายละเอียดว่ามีคัมภีร์อะไรบ้าง
และมีจำนวนเท่าใด แต่ผู้ศึกษาได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับบทบาทของคัมภีร์ใบลานในวัฒนธรรมชาวผู้
ไทบ้านกกต้องในมิติต่าง ๆ เนื่องจากชุมชนแห่งนี้ ยังมีการใช้งานและผลิตซ้ำอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน
ซึ่งต่างจากชุมชนอื่น ๆ ที่หมดความนิยมไปเนื่องจากการเข้ามาแทนที่ของหนังสือไทยยุคปัจจุบัน โดย
ผู้ศึกษาได้ศึกษาในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

๑. การแสดงความเสมอภาคระหว่างเพศภาวะกับการจรรโลงพุทธศาสนา
จากจำนวนของคัมภีร์ใบลานที่ถูกสร้างและเก็บรักษาอย่างดี เป็นประเด็นที่น่าสนใจต่อ
การศึกษาเกี่ยวกับโลกทัศน์ของชาวผู้ไทที่มีต่อคัมภีร์ใบลานอย่างยิ่ง การที่ปรากฏคัมภีร์ใบลานจำนวน
มากในชุมชน ทั้งของเดิมที่นำมาจากเมืองวัง ที่ถูกเคลื่อนย้ายมาพร้อมกับการอพยพของชาวผู้ไทตาม
หลักฐานทางประวัติศาสตร์แล้ว ยังมีการสร้างเพิ่มเติมเรื่อยมา อีกทั้งยังมีการนำมาใช้ในสังคมอยู่
เสมอ การปรากฏอยู่ของคัมภีร์ใบลานในสังคมชาวผู้ไทนี้ได้สะท้อนบทบาทของชาวผู้ไทที่สอดแทรก
อยู่กับองค์ประกอบต่าง ๆ ของคัมภีร์ใบลาน ดังนี้
ความเสมอภาคระหว่างเพศภาวะกับการจรรโลงพุทธศาสนา ดังเป็นที่ทราบกันทั่วไป
แล้วว่า พุทธศาสนาให้โอกาสในการบวชเรียนแก่บุรุษมากกว่าสตรี อย่างไรก็ตามพุทธศาสนาใน
กรอบของวัฒนธรรมอีสานยังมีการจัดสมดุลของการจรรโลงพุทธศาสนาโดยมีการสะท้อนผ่านคัมภีร์
ใบลาน เช่นที่ปรากฏในชุมชนผู้ไทบ้านกุดบอด พบว่า คัมภีร์ใบลานมีการแสดงถึงความความเสมอ
ภาคของเพศภาวะกับการจรรโลงพุทธศาสนาในหลาย ๆ มิติ เช่น การใช้ผ้าซิ่นห่อคัมภีร์ใบลาน ซึ่ง
เป็นสัญลักษณ์ของบทบาทคู่กันระหว่างเพศสภาวะชายในฐานะผู้สร้างสรรค์คัมภีร์ใบลาน และ
บทบาทของเพศภาวะหญิงในฐานะผู้ปกป้องรักษา เช่นเดียวกับประเพณีปฏิบัติที่พระสงฆ์มักจะมีแม่
ออกค้ำในการอุปถัมภ์ การใช้ผ้าซิ่นหอคัมภีร์นั้นส่วนใหญ่จะเป็นผ้าไหมที่ทออย่างงดงามหลากสี

นอกจากนี้ยังพบว่ามีการนำผมของผู้หญิงมาถักเปียใช้เป็นเชือกมัดห่อคัมภีร์ใบลาน เช่น
คัมภีร์มัดหนึ่งสร้างถวายโดย นางอ่อนสา บานเพชร มีการใช้เส้นผมถักเปียเป็นเชือกมัดห่อคัมภีร์
และใช้เส้นผมปนกับสายสนองที่ผูกใบลาน และตกแต่งขอบลานด้วนการลงรักปิดทองอย่างงดงาม

๒. คัมภีร์ใบลานกับการจัดระเบียบสังคมชาวผู้ไท
คัมภีร์ใบลานเป็นหลักฐานลายลักษณ์ที่สำคัญของชุมชนบ้านกุดบอด ที่มีการบันทึกจด
จารเรื่องราวข้อมูลต่าง ๆ เพื่อสืบทอดวิถีวัฒนธรรมของชุมชน คัมภีร์ใบลานจึงเป็นฐานข้อมูลสำคัญที่
เก็บกำเรื่องราวในอดีต และเป็นสิ่งเชื่อมต่อให้ช่องว่างระหว่างอดีตกับปัจจุบันสามารถต่อเชื่อมกันได้
อย่างสมดุล ดังนั้นจึงมีการผลิตซ้ำคัมภีร์ใบลานและวาทกรรมในตัวบทผ่านพระสงฆ์และนักปราชญ์
ในชุมชนตลอดมา ชุมชนบ้านกุดบอดจึงเป็นชุมชนที่มีเสน่ห์จากความเป็นระเบียบเรียบร้อยที่ถูก
จัดสร้าง "กฎระเบียบ (Carecter)" จากวาทกรรมในคัมภีร์ใบลานท่ามกลางความหลากหลายในความ
เป็นชุมชนพหุวัฒนธรรม กิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนมีการเชื่อมร้อยกับโลกทัศน์ที่ปรากฏใน
เนื้อหาของวรรณกรรมในคัมภีร์ใบลาน และสะท้อนถึงวิถีชีวิตและความเชื่อจริง ๆ ของสังคม ดังเช่น
วรรณกรรมเด่นของชุมชนเรื่อง "หูกฟ้าแมงคาน" ที่เล่าเรื่องราวของนางหูกฟ้าที่ทอผ้าในตอนกลางคืน
จนเป็นเหตุให้พญาแถนนำตัวไปซ่อนไว้ จนที่สุดแล้วท้าวแมงคานได้ตามไปช่วย เกิดเป็นเรื่องราวที่
สนุกสนานประดับชุมชน ในขณะเดียวกันวรรณกรรมเรื่องนี้ได้สะท้อนถึงการจัดระเบียบสังคมใน
การกำหนดช่วงเวลาของการทำงานทอผ้าของผู้หญิงในชุมชน ที่จะต้องละเว้นการทำงานทอผ้าใน
เวลากลางคืน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุร้ายตามวรรณกรรม อีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจที่ปรากฏในคัมภีร์ใบ
ลานคือ โสกกุฏิเจ้าวัด ที่จะต้องจัดอยู่ในทิศทางที่เหมาะสม ดังนี้
บูรพา บีพระแตก
อาคเณย์ เจ้าหัวแขกมาโฮม
ทักษิณ โยมมาส่อ
หรดี พ่อครูตาย
ปัจฉิม คนดายบวชผิดฮีต
พายัพ ลูกศิษย์มิจฉาจาร
อุดร ของทานแล่นมาสู่
อีสาน พระครูเทศนา
จัดระเบียบสังคมจากข้อความในคัมภีร์ใบลาน แม้จะไม่ครอบคลุมในทุกมิติ และไม่ได้
ถูกนำมาใช้อย่างเคร่งครัด แต่การปรากฏมีอยู่ของข้อมูลเป็นสิ่งสะท้อนให้เราเข้าถึงกระบวนการผลิต
ซ้ำเพื่อตอกย้ำข้อมูลสารสนเทศที่สังคมคัดกรองแล้วว่าเหมาะสมกับการจัดระเบียบสังคมของตน ภาพ
สะท้อนนี้ปรากฏอย่างเด่นชัดในสังคมชาวผู้ไทบ้านกุดบอดในมิติต่าง ๆ ทางวัฒนธรรม เช่น ตำแหน่ง
กุฏิเจ้าที่จัดวางสอดคล้องกับโสก หรือ การยึดแนวปฏิบัติตามวรรณกรรม เช่น ท้าวคำสอน อินทิยาน
สอนลูก พญาคำกองสอนไพร่ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม วรรณกรรมเหล่านี้มีจุดกำเนิดจากวัฒนธรรม
ลาวล้านช้าง ซึ่งเป็นโจทย์ที่น่าสนใจในการศึกษาความเชื่อมโยงและการปรับแปลงสู่วัฒนธรรมผู้ไท

เนื้อหาในคัมภีร์ใบลานที่นำมาเป็นตัวอย่างได้สะท้อนถึงการจัดสังคมให้เป็นระบบ
ระเบียบ โดยใช้คัมภีร์ใบลานเป็นหลักฐานบันทึก เพื่อความถูกต้องเชื่อถือได้ในการสืบทอด มิให้เกิด
ความผิดพลาดจากการหลงลืมด้วยการจดจำแบบวรรณกรรมมุขปาฐะหรือวรรณกรรมบอกเล่า(Oral
literature) อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแต่คัมภีร์ใบลานเท่านั้นที่ถูกใช้เป็นสื่อในการจัดระเบียบสังคม แต่
ตัวคัมภีร์เองยังมีการจัดระเบียบไว้อย่างชัดเจนอีกด้วย การสร้าง และใช้คัมภีร์ใบลานจึงมีระบบที่
จะต้องทำความเข้าใจและถอดรหัสหาความหมายและปัจจัยของบริบทที่มีผลต่อการประดิษฐ์สร้าง
คัมภีร์ใบลาน
คัมภีร์ใบลานจะมี ๒ ขนาด คือ คัมภีร์ใบลานก้อม มีความยาวประมาณ ๒๐-๓๐
เซนติเมตร และคัมภีร์ใบลานยาว มีขนาดประมาณ ๕๐ - ๗๕ เซนติเมตร คัมภีร์ทั้งสองชนิดมีการจัด
ระเบียบการใช้ซึ่งจะบ่งบอกสถานะของผู้ใช้คัมภีร์ได้ด้วย กล่าวคือ คัมภีร์ใบลานก้อมนั้นมักจะเป็น
คัมภีร์เกี่ยวกับกิจการของคฤหัสถ์ เช่น หมอธรรม หมอยา หมอดู เป็นต้น ตัวอักษรที่ใช้บันทึกมีทั้ง
อักษรตัวธรรมอีสาน อักษรตัวไทน้อย และ อักษรตัวขอม ส่วนคัมภีร์ใบลานยาว มักจะเป็นคัมภีร์
เกี่ยวกับกิจของพระสงฆ์หรือผู้ปกครอง เช่น พระไตรปิฎก ฎีกา กฎหมาย วรรณกรรมคำสอน หรือ
ชาดก เป็นต้น คัมภีร์จึงเป็นสิ่งบ่งบอกสถานะทางสังคมของผู้ใช้ได้ด้วย สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในการจัด
ระเบียบของสาระในคัมภีร์ใบลานคือการใช้อักษร ซึ่งมีการจัดระบบการใช้อย่างมีแบบแผน กล่าวคือ
คัมภีร์ใบลานที่ว่าด้วยพุทธศาสนาหรือคดีธรรม เช่น พระไตรปิฎก ฎีกา ชาดก จะจารด้วยอักษรตัว
ธรรมอีสาน ส่วนคัมภีร์ที่เป็นคดีโลก เช่น วรรณกรรมที่ไม่ใช่ชาดก กฎหมาย นิทาน จะจารด้วย
อักษรตัวไทน้อย ส่วนอักษรตัวขอมมักจะใช้จารึกเรื่องราวที่เป็นศัพท์บาลีล้วน เช่น มูลกัจจายน์ บท
สวดมนต์ต่าง ๆ เป็นต้น

๓. คัมภีร์ใบลานกับพหุวัฒนธรรมชาวผู้ไท
นอกจากบทบาทของการแสดงความเสมอภาคระหว่างเพศภาวะกับการจรรโลงพุทธ
ศาสนา และบทบาทคัมภีร์ใบลานกับการจัดระเบียบสังคมชาวผู้ไทแล้ว คัมภีร์ใบลานยังเป็นสิ่งหนึ่งที่
สะท้อนถึงการผสมผสานความหลากหลายทางวัฒนธรรมในสังคมชาวผู้ไทได้เป็นอย่างดี ดังที่ทราบ
กันทั่วไปว่า สังคมชาวผู้ไทบ้านกุดบอดมีคติความเชื่อทั้งในวิถีพุทธและผี ดังปรากฏศาสนบุคคล
ศาสนสถาน ศาสนธรรม และพิธีทางพุทธศาสนา ในขณะเดียวกันในชุมชนยังคงมีการนับถือผีต่างๆ
ทั้งผีให้คุณและให้โทษซึ่งจะมีวิธีปฏิบัติที่แตกต่างกันออกไป พิธีกรรมที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของ
การนับถือผีนั่นคือพิธีเหยา จากการศึกษาบทบาทของคัมภีร์ใบลานกับความเป็นพหุวัฒนธรรมชนชาว
ผู้ไทโดยเฉพาะมิติทางวัฒนธรรมความเชื่อนั้น พบว่า คัมภีร์ใบลานแม้จะเป็นเครื่องมือที่ถูกประดิษฐ์
สร้างตามกรอบจารีตเดิม แต่ปัจจุบันได้คลี่คลายบทบาทการใช้งานเพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับความ
เป็นพหุวัฒนธรรมของชุมชนมากขึ้น เช่น การที่คัมภีร์ใบลานเป็นตัวเชื่อมและเติมเต็มช่องว่างระหว่าง
วัฒนธรรมพุทธและผี กล่าวคือ การที่พระใช้คัมภีร์ใบลานที่เป็นบทสวดแต่งแก้เสียเคราะห์หรือไล่ผี
ตัวอย่างนี้เป็นช่วยทำให้สังคมมีคำตอบถึงการวางบทบาทของพระต่อความเชื่อเรื่องผีได้เป็นอย่างดี
เนื่องจากในวิถีพุทธเป็นวิธีสู่การหลุดพ้นด้วยอริยมรรค แต่ในขณะที่ชุมชนยังมีฐานความเชื่อเรื่องผี
การกลมกลืนทางวัฒนธรรมจนลงเกิดความลงตัวในลักษณะของพุทธแบบชาวบ้าน จึงจำเป็นที่จะต้อง
มีวาทกรรมเพื่อเน้นย้ำปรากฏการณ์การเกิดวัฒนธรรมในแนวพุทธแบบชาวบ้าน สิ่งหนึ่งที่ถูกสร้าง
ถูกใช้ เป็นที่ยอมรับของชุมชน คือ คัมภีร์ใบลาน ตัวอย่างปรากฏการณ์ที่น่าสนใจในการสร้างคัมภีร์
ใบลานเพื่อสะท้อนถึงลักษณะการกลมกลืนระหว่างวัฒนธรรมพุทธและผีโดยมีคัมภีร์ใบลานเป็น
ตัวเชื่อมอีกกรณีหนึ่งคือ เมื่อคนไปดูดวงแล้วได้รับการทำนายว่ามีเคราะห์ ซึ่งมีทางออกในการผ่อน
หนักเป็นเบาโดยการสร้างคัมภีร์ใบลานเกี่ยวกับพุทธศาสนาเรื่องต่าง ๆ ถวายวัด อย่างนี้เป็นต้น
นอกจากนี้การเชื่อมโยงโลกทัศน์ระหว่างวัฒนธรรมลาวล้านช้างกับโลกทัศน์ของชาวผู้ไท ผ่านการ
ผลิตซ้ำข้อมูลในคัมภีร์ใบลาน หรือการดำรงอยู่อย่างท้าทายของโลกทัศน์ในวัฒนธรรมพุทธท่ามกลาง
โลกทัศน์วิถีวัฒนธรรมผีโดยใช้คัมภีร์ใบลานเป็นสื่อกลางเป็นมิติทางวัฒนธรรมที่ท้าทายการเข้าไป
ศึกษา ทั้งในมิติ พัฒนาการ การปรับเปลี่ยน การกลืน และกลาย ระหว่างสองกลุ่มวัฒนธรรม
จากข้อมูลเบื้องต้นที่นำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างคัมภีร์ใบลานกับวิถีพหุวัฒนธรรมของ
สังคมชาวผู้ไทบ้านกุดบอด ตำบลสงเปลือย อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ สะท้อนให้เห็นว่า คัมภีร์
ใบลานได้ถูกประดิษฐ์สร้างขึ้น และมีการผลิตซ้ำอย่างมีสีสันควบคู่กับการเคลื่อนไหวทาง
ประวัติศาสตร์ของสังคมชาวผู้ไทบ้านกุดบอด จากอดีตเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน คัมภีร์ใบลานเป็นสิ่ง
เชื่อมร้อยบทบาทสังคมในมิติต่างๆ ในวิถีพหุวัฒนธรรมของชุมชนชาวผู้ไทที่ควรถูกจัดกระทำ ทั้งการ
อนุรักษ์ สืบทอด จัดการองค์ความรู้ และเผยแพร่อย่างเข้าใจและเห็นคุณค่าอย่างจริงจังต่อไป

ที่มา ศูนย์ภูไทศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฎกาฬสินธุ์