คลอดลูกอยู่ไฟ

***โดย "พูน สามสี หัวหน้าคณะกันตรึมบ้านดงมัน"
Permalink :http://www.oknation.net/blog/surin-samosorn


การคลอดลูก ฝ่ายเมียพอท้องได้ ๘-๑๐ เดือน ครบกำหนดคลอดแล้ว ฝ่ายผัวก็เตรียมฟืนกับยามาสำหรับเมียอยู่ไฟหรือคลอดลูก พอถึงวันเมียปวดท้องคลอด ผัวก็วิ่งไปตามหมอตำแย


พอไปถึงบ้านหมอตำแยก็นั่งยกมือไหว้ “ผมมาเชิญคุณแม่ไปดูเมียผมปวดท้อง จะคลอดหรือไม่คลอดนั้นผมก็ไม่รู้ ฉะนั้นจึงเชิญแม่ไปดูให้ผมสักหน่อย”


พอหมอตำแยไปถึงบ้านก็ตรงไปที่คนนอนปวดท้องอยู่ จับดูท้อง พอดูปุ๊บ ลูกในท้องมันเด้งทันที หมอตำแยก็ตะโกนเรียกผัวของนาง สั่งให้หาเชือกหรือผ้าขาวม้า เตรียมสำหรับผูก แต่บางคนก็มีแรงเด้ง (เบ่ง) หมอตำแยก็กดไม่ต้องผูกเชือก บางคนไม่ค่อยมีเร่งเบ่ง ก็ต้องผูกเชือก เพื่อจับเชือกดึงพยุงตัวขึ้น หมอตำแยกดดันเต็มแรง เด็กจึงจะออกได้


แต่น่าแปลกอยู่อย่างหนึ่งคือ เด็กที่เกิดออกมานั้นไม่เหมือนกัน บางเด็กก็หัวมาก่อน บางเด็กก็ขามาก่อน บางเด็กก็มือมาก่อน แต่เด็กที่ขากับมือออกมาก่อนนี้ยากหน่อย หรือรกขาดนี้ยากมาก ถ้าหมอตำแยมืออ่อนก็เอาไม่รอด ถึงกับชีวิตแน่


หมอตำแยนี้ต้องรู้ ในรกต้องจับรีดให้คนเขาดูด้วยว่ามีขาดไหม หรือไม่มี ถ้าไม่มีก็ดีแล้ว แต่ถ้ามีขาดนี้แหละจะยาก ต้องหายาให้กินปุ๊บปั๊บเดี๋ยวนั้น ยาที่ว่าก็คือ


ซเมาอั๊จม์แซ๊ะ (หญ้าหนวดแมว) ๗ ส่วน ดินปืนดินพลุประมาณ ๑ ช้อน สน๊อกปั๊วะ (คราบงูที่ลอกคราบ) ๗ ส่วน ปิงวาย (แมงมุม) ๗ ส่วน มะเร็งพเลิง (เจตมูลเพลิง) ๗ ส่วน

เอามาคั่วรวมกันให้มันไหม้สักหน่อย ก็ละลายในน้ำให้กิน

ส่วนเด็กที่คลอดมาใหม่นั้นก็ตัดสะดือแล้วมัดกับด้ายสีดำ ด้ายนั้นพันมัดสองจุด เวลาตัดไม่ใช้มีด แต่ตัดกับหอยกาบ แล้วก็อาบน้ำให้ ล้างมือ ถูตัว แล้วก็ให้นอนกับกระด้งหรือฉะเนียง จวมบูน (บายศรีเชิญครู) เอากะลามะพร้าวใส่ขี้เถ้า หมาก ๔ ลูก ใบพลู ถ้าไม่มีให้เอาใบขนุนวางไว้ ๔ ทิศ ทิศละใบ ส่วนธูปเอาต้นหญ้าคาแทน เทียน ๒ เล่ม


ส่วนแม่เมื่อคลอดลูกแล้ว ก็ให้นอนราบกับพื้น รออาบน้ำร้อน หม้อที่ต้มน้ำต้องใช้หม้อดินใหญ่ ก็หม้อที่ใช้สาวไหมนั้นแหละ ต้องใส่รากทมึ๊ย (ต้นป่าน) เกลือ ใบมะขาม เปลือกมะขาม ใส่ในหม้อต้มพอเดือด แล้วก็ตักให้คนคลอดกินและอาบ


ส่วนใต้ถุนบ้านนั้นมีหลุมอยู่ ๑ หลุม หลุมนี้ใช้สำหรับรองน้ำที่อาบเวลาอาบน้ำก็ไหลตกลงไปในหลุม ในหลุมก็ใส่ซังเคิร (กิ่งเล็บเหยี่ยว) ใส่หัวไพล เอาแหปิดล้อมรอบบริเวณหลุม เพื่อป้องกันผีปอบ อย่าให้มันเขาไปได้

ถ้ามันเข้าไปได้แล้วมันจะไปกินเลือดหรือรกที่อยู่ในหลุม

ส่วนผัวก็เอาฟืนดุ้นใหญ่ๆ มาก่อไฟให้เมียที่เมียนอนราบกับพื้นอยู่บนบ้าน


ผัวเมียต้องยกครูให้หมอตำแยด้วย โดยมี...

จวมบูน (บายศรีเชิญครู) ประกอบด้วยใบพลูหรือใบขนุนทิศละ ๔ ใบ ธูป ๒ ดอก เทียน ๔ เล่ม กรวยดอกไม้ ๕ กรวย ใส่จานไว้

บายศรีปากชาม ๑ คู่ แต่ละจานประกอบด้วย กล้วย ๔ ลูก ข้าวต้มมัด ๔ มัด หมาก ๔ ลูก เงิน ๔ บาท

นอกจากนี้ก็มีของไหว้พระพิษณุ เรียกว่า “พิษณุการ” คือมีข้าวเปลือก ๑ กระเชอ ตรงกลางวาหัวขวานถาก ๑ เล่ม ข้างๆ วางไข่ต้ม ๑ ฟอง ถ้วยใส่ข้าวสาร ๒ ถ้วย หมาก ๑ ลูก เทียน ๒ เล่ม (ปักในถ้วยข้าวสาร) กรวยดอกไม้ ๕ กรวย กรรไกร มีดโกน หวี แป้ง ด้ายชุบน้ำขมิ้น แล้วเอาใบหญ้าคาปักไว้ ไก่ต้ม ๑ ตัว ใส่ถาดวางไว้ข้างๆ กระเชอ


การทำข้าวให้เด็กกิน ให้แม่เคี้ยวข้าวสุกใส่จานประมาณพออิ่ม ก็เอาใบ ตองมาห่อ แล้วก็ย่างพอสุก แล้วเอามาป้อนเด็ก เตรียมน้ำ ๑ ขัน สำหรับให้เด็กกินและล้างมือ....

***

*หมายเหตุ - ข้อมูลในรูปภาพนี้ คือ การอบรมหมอตำแยพื้นบ้าน ณ สุขศาลาอำเภอปราสาท เมื่อ ๔๐ กว่าปีก่อนหมอตำแยพื้นบ้านจะได้รับประกาศนียบัตรรับรอง พร้อมกระเป๋าใส่เครื่องเวชภัณฑ์จำนวนหนึ่ง