ประเพณีตักบาตรเทโว


ประเพณีตักบาตรเทโว


ประเพณีอันเกี่ยวเนื่องกับวันออกพรรษา ได้แก่ ประเพณีตักบาตรเทโว ซึ่งย่อมาจาก "เทโวโรหนะ"
หมายถึง การเสด็จลงมาจากเทวโลกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตามตำนานเล่าว่า เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว
ได้เสด็จไปประกาศพระศาสนาในแคว้นต่าง ๆ ทรงรำลึกถึงพระนางสิริมหามายา
ซึ่งได้สิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่พระองค์ประสูติได้ 7 วัน จึงทรงดำริที่จะสนองคุณพระพุทธมารดา ดังนั้น
จึงได้เสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เทศนาพระอภิธรรมปิฏก โปรดพระพุทธมารดา
และเทวดาทั้งหลายอยู่หนึ่งพรรษา ครั้นวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 หรือหลังวันออกพรรษา 1 วัน
พระองค์เจ้าจึงได้เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มาประทับที่เมืองสังกัสสะ
ประชาชนต่างพากันไปเฝ้าพระพุทธองค์ เพื่อทำบุญตักบาตรกันอย่างเนื่องแน่น

ด้วยเหตุนี้ ชาวพุทธจึงถือเอาวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 เป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้า
เสด็จจากเทวโลกมาสู่เมืองมนุษย์ จึงนิยมตักบาตรกันเป็นพิเศษ และทำสืบต่อมาเป็นประเพณีที่เรียกว่า
"ตักบาตรเทโว" มาจนทุกวันนี้

วันตักบาตรเทโว เรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า “วันพระเจ้าเปิดโลก” ด้วยว่า
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มาสู่โลกมนุษย์หลังวันออกพรรรษานั้น
เล่ากันว่ามีเทวดาจำนวนมากได้ตามส่งเสด็จอย่างสมพระเกียรติ พระพุทธองค์จึงทรงเนรมิตให้เทวดา มนุษย์
และสัตว์นรกมองเห็นกันและกันตลอดทั้ง 3 โลก คือ สวรรค์ มนุษย์ และนรก
อีกทั้งในวันนี้การลงโทษในเมืองนรกได้ยุติลงชั่วคราว จึงเรียกว่า “วันพระเจ้าเปิดโลก”

สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หมายถึง สวรรค์ชั้นที่ 2 แห่งสวรรค์ 6 ชั้น ซึ่งมี ท้าวสักกะ หรือ พระอินทร์
เป็นจอมเทพผู้ปกครอง สวรรค์ 6 ชั้นดังกล่าว เรียกว่า “กามภพ” หมายถึง ภพที่ท่องเที่ยวไปในกาม
แบ่งออกเป็น ชั้นจาตุมหาราช เป็นที่อยู่ของท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 ชั้นดาวดึงส์ เป็นเมืองของพระอินทร์
ชั้นยามา เป็นเมืองของสยามเทวราช ชั้นดุสิต (ดุสิต แปลว่า บันเทิง) มี สันดุสิตเทวราช เป็นผู้เป็นใหญ่
ชั้นนิมมานนรดี(นิม-มาน-นอ-ระ-ดี) หมายถึง ผู้ยินดีในการเนรมิต และชั้นปรนิมมิตวสวัตดี
(ปอ-ระ-นิม-มิด-ตะ-วะ-สะ-วัด-ดี) มีพระยามาราธิราช เป็นใหญ่

ของทำบุญที่นิยมกันเป็นพิเศษ ในประเพณีตักบาตรเทโวฯ คือ ข้าวต้มลูกโยน
โดยจะเอาข้าวเหนียวมาห่อด้วยใบมะพร้าวไว้หางยาว กล่าวกันว่าที่นิยมทำข้าวต้มลูกโยนคงเป็นเพราะ
เมื่อพระพุทธองค์เสด็จลงมาจากเทวโลก พระบรมศาสดาถูกห้อมล้อมด้วยมนุษย์และเทวดาจำนวนมาก
ทำให้ผู้ที่เข้าไม่ถึง คิดวิธีใส่บาตรโดยโยนเข้าไป และที่ไว้หางยาวก็เพื่อให้โยนได้แม่นยำยิ่งขึ้น
ซึ่งการโยนลักษณะนี้คงเกิดขึ้นภายหลัง มิใช่สมัยพระพุทธองค์จริง ๆ และทำให้เป็นนัยยะมากกว่า
เพราะปัจจุบันจะใช้การแห่พระพุทธรูปแทนองค์พระพุทธเจ้า

หลักธรรมที่ควรปฏิบัติ
ในเทศกาลออกพรรษานี้ มีหลักธรรมสำคัญที่ควรนำไปปฏิบัติ คือ ปวารณา

ปวารณา ได้แก่ การเปิดโอกาสให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนตนเองได้ในการปวารณานี้อาจแบ่งบุคคลออกเป็น ๒ ฝ่ายคือ

๑. ผู้ว่ากล่าวตักเตือน จะต้องเป็นผู้มีเมตตา ปรารถนาดีต่อผู้ที่ตนว่ากล่าวตักเตือน เรียกว่ามีเมตตา ทางกาย ทางวาจา และทางใจพร้อมมูล

๒. ผู้ถูกว่ากล่าวตักเตือน ต้องมีใจกว้าง มองเห็นความปรารถนาดีของผู้ตักเตือน ดีใจมีผู้มาบอกขุมทรัพย์ให้

การปวารณานี้ จึงเป็นคุณธรรมสร้างความสมัครสมานสามัคคีและดำรงความบริสุทธิ์หมดจดไว้ในสังคมพระสงฆ์ การปวารณา แม้จะเป็นสังฆกรรมของสงฆ์ ก็อาจนำมาประยุกต์ใช้กับสังคมชาวบ้านได้ด้วยเช่น การปวารณากันระหว่างสมาชิกในครอบครัวในสถานศึกษา ในสถานที่ทำงาน พนักงานในห้างร้าน บริษัทและหน่วยราชการ เป็นต้น


[MEDIA][wmaย]http://www.hotlinkfiles.com/files/179450_mqhbr/%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%99.wma]ออกพรรษาที่เชียงคาน.wma[/wma][/MEDIA]