พิธีกรรมการโจลมะม๊วด

“โจลมะม๊วด”เป็นพิธีกรรมความเชื่อที่แสดงถึงวิถีชีวิตของ “ชาวเขมร” ในชนบทดั้งเดิมที่จัดขึ้นเพื่อการรักษาผู้ป่วย ที่ไม่สามารถหาสาเหตุของการป่วยได้ซึ่งมักเชื่อว่าผู้ป่วยถูกคุณไสย์ หรือถูกกระทำจากสิ่งเร้นลับ ตลอดถึงวิญญาณร้ายสิงสู่ ญาติพี่น้องจะเชิญ“แม่หมอ”มาประกอบพิธีกรรมเพื่อเป็นการขจัดปัดเป่าสิ่งเลวร้าย หรือ ขอขมาลาโทษสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้ป่วยอาจล่วงละเมิดโดยไม่ตั้งใจ หรือถอนคุณไสย์ที่ถูกกระทำจากศัตรูคู่แค้น โดยการใช้ดนตรีเป็นสื่อในการประกอบพิธีเพื่อเป็นการบูชาครู และสร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้ป่วย................


อุปกรณ์ในการแสดงจะประกอบด้วยเครื่องเซ่นสังเวย และเครื่องบวงสรวง ซึ่งทำจากก้านกล้วยจำนวน 2 ชุด ชุดที่ 1 มี 3 ขาซึ่งเป็นเสมือนตัวแทนของดวงวิญญาณที่เป็นเพศชาย ชุดที่ 2 มี 4 ขา จะเป็นตัวแทนของดวงวิญญาณที่เป็นเพศหญิง พร้อมทั้งมีดอกไม้ธูปเทียน อาวุธ (มีดดาบ) 1 เล่ม ข้าวสาร 1 ขัน นางรำแล้วแต่สถานการณ์ แม่หมอจะอัญเชิญดวงวิญญาณประทับร่าง ในขณะเดียวกันนักดนตรีก็จะบรรเลงเพลงในจังหวะเร่งเร้า และนางรำก็จะร่ายรำบูชาครู ตลอดถึงเทวดาฟ้าดินสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ให้ช่วยดลบันดาลให้ผู้ป่วยหายจากอาการป่วยไข้ ส่วนอาวุธซึ่งเป็นมีดดาบที่ใช้ในพิธี ถือว่าเป็นอาวุธที่ใช้เพื่อการข่มดวงวิญญาณร้ายที่สิงสู่อยู่ในร่างของผู้ป่วย

ปัจจุบันพิธีกรรมเหล่านี้ยังมีอยู่ในบางชุมชน ซึ่งหากไม่มีผู้ป่วยไข้ในชุมชน ก็จะจัดพิธีกรรมนี้ขึ้นเพื่อเป็นการบูชาครู ตลอดถึงเทวดาฟ้าดิน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือดวงวิญาณบรรพบุรุษ เพื่อความเป็นศิริมงคลแก่ผู้คนในครอบครัว ในชุมชน โดยพิธีกรรมจะเริ่มขึ้นเมื่อดนตรีเริ่มบรรเลง ผู้ที่อยู่ในพิธีจะมีอาการเคลิบเคลิ้ม ก่อนที่ลุกขึ้นฟ้อนรำกันอย่างสนุกสนาน


ซึ่งแต่ละครั้งผู้ร่วมพิธี จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันออกมาฟ้อนรำ กินเวลายาวนานถึงกับข้ามวันข้ามคืน โดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และเชื่อกันว่าผู้ที่ร่วมร่ายรำในพิธีโจลมะม๊วด นี้จะมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง มีจิตใจที่เข้มแข็ง มีอายุยืนยาว ทั้งนี้เชื่อกันว่าเป็นเพราะได้ออกกำลังกาย ซึ่งเป็นการเสริมสร้างทั้งสุขภาพกายและกำลังใจนั่นเอง