การปกป้องความคิดของตัวเราเองหรือการปกป้องผลงานที่สร้างสรรค์ท่ามกลางคำวิจารณ์ของหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน นับเป็นหนึ่งในสถานการณ์ล่อแหลม เส้นบางๆ ที่แบ่งแยกตัวคุณระหว่างการได้รับยกย่องว่าเก่ง หรือหลงตัวเอง อีโก้จัด คือการแสดงออก ถ้าเรารู้จักใช้มันให้เป็น คุณจะได้ทั้งงานที่ตัวเองภาคภูมิใจ และสามารถรักษาจุดยืนได้อย่างยอดเยี่ยม และนี่คือแนวทางที่เราอยากแนะนำเพื่อให้คุณเป็นดาวเด่นที่มีคนชื่นชม

1. ชัดเจนและมั่นใจกับตัวเอง
สรุปกับตัวเองให้จบว่างานนี้คุณตั้งเป้าหมายไว้อย่างไร จุดยืนของตัวเองคืออะไร และมันดีอย่างไร คุณเชื่อและมีเหตุผลมากพอที่จะรองรับในสิ่งที่คิดหรือยัง คุณมีข้อมูลมากพอที่จะปกป้องตัวเองและงานจากการมองต่างมุมหรือยัง ถ้ายัง…พัฒนามันจนคุณมั่นใจ แล้วลุยเลย

2. ชัดเจน มั่นใจกับการกระทำ และคำพูด
แม้จะเตรียมการมาดีพอ แต่การพูดเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือคือสิ่งที่ต้องอาศัยทักษะและ ประสบการณ์ สำหรับมือใหม่สิ่งที่ดีที่สุดคือการซักซ้อมในแบบสมมุติเหมือน เล่นละคร ลองบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือมองตัวเองจากกระจก แล้วสังเกตดูว่าบุคลิกภาพของคุณดีพอหรือยัง คำพูดชัดเจน มั่นใจ และกระชับ เข้าใจง่ายไหม ถ้าไม่เข้าข้างตัวเอง วิธีการนี้จะทำให้คุณได้ขัดเกลาตัวเองก่อนลงสนาม และแน่นอนว่า คุณจะรู้สึกมั่นใจเพิ่มขึ้นอีกถึง 30% ทีเดียว

3. เตรียมใจสำหรับคำวิจารณ์
สิ่งที่ต้องยอมรับคือต่างคนต่างความคิด ดังนั้นสิ่งที่คุณนำเสนอแบบไร้ช่องโหว่ อาจมีคนคิดปลีกย่อยและหาข้อติเตียน วิจารณ์ อย่าเสียกำลังใจ อย่าโกรธ เกลียดเขา เพราะแม้บางคนจะทำด้วยอคติ แต่ก็มีหลายคนที่ทำไปโดยเจตนาบริสุทธิ์ ไม่ว่าเขาจะมาไม้ไหน คุณต้องรักษาภาพความเป็นกลางและฟังอย่างตั้งใจ ยิ่งมีสติมากเท่าไหร่คุณก็ยิ่งสามารถเคลียร์ข้อผิดพลาดที่พวกเขายกมาได้ดีเท่านั้น วิธีการที่ดีคือการยิ้มและค่อยๆ คิด ค่อยๆ พูดให้เนิบช้าลงสักนิดด้วยเสียงที่นุ่มนวลและเหตุผลมาตรฐานที่ไม่มีใครคัดค้าน คล้ายๆ กับที่บอกว่า… โลกมีแรงโน้มถ่วง แอปเปิ้ลจึงตกลงพื้นนั่นแหละ

4. เตรียมใจสำหรับความผิดพลาด
กล่าวกันว่า คนที่ไม่ทำผิดคือคนที่ไม่ทำอะไรเลย ดังนั้นมันจึงเกิดขึ้นได้เสมอที่คุณอาจได้รับความผิดหวังจากความผิดพลาด สิ่งแรกที่ต้องทำคือ…ทำใจยอมรับ ในทุกสนามแข่งขัน ผู้ชนะ คือผู้ที่ลุกขึ้นเร็วที่สุดจากความผิดพลาด ดังนั้นถ้าคุณอยากแก้ตัวและมีบทสรุปแบบ Happy Ending คุณจึงต้องรีบได้คิดและออกตัวแก้ไข (ไม่ใช่ออกไข…แก้ตัว) ในสิ่งที่พลาดอย่างกล้าหาญ มีจรรยาบรรณ ด้วยสติปัญญา ความอ่อนโยน และใจเย็น

5. เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส
บางคนต่อสู้เพื่อตัวเองมาตลอดชีวิต แต่ไม่เคยชนะ บางคนแพ้มาตลอดชีวิตแต่กลับได้ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ในโอกาสสำคัญ การเรียกความพ่ายแพ้ว่าเรื่องอับอาย หรือบทเรียน คือกุญแจ สำคัญ การมองย้อนไปแล้วนำความผิดพลาดของตัวเองมาพินิจพิจารณา รวมทั้งการหาคำแนะนำ หรือนำประสบการณ์ วิธีของผู้ได้รับความสำเร็จมาปรับใช้กับตัวเอง จึงเป็นสิ่งที่ดีและทำให้คุณสามารถพัฒนาตัวเองได้รวดเร็ว ที่สำคัญต้องเปิดใจกว้าง และปรับเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการอย่างจริงจัง และจริงใจ กล้าลองผิดลองถูก และขัดเกลาตัวเอง แล้ววันหนึ่งคุณจะได้รับ ชัยชนะในโอกาสสำคัญ

6. เปลี่ยนวิธีการแต่ไม่เปลี่ยนตัวเอง
ไม่มีสูตรสำเร็จในความสำเร็จ ที่ใช้ได้เสมอกัน เพราะทุกคนต่างกันด้วยพื้นฐานความคิด ครอบครัว ประสบการณ์ ดังนั้นการเลือกเปลี่ยนตัวเอง ต้องให้สอดคล้องกับบุคลิก ลักษณะ และข้อจำกัดในตัวคุณด้วย เช่นเดียวกับหนูซึ่งมองว่าราชสีห์นั้นยิ่งใหญ่ แต่ตัวเองกระจ้อยร่อย จะให้วางท่าสง่า ทำภูมิฐาน ก็ยิ่งชวนขบขัน แต่ถ้าใช้ความคล่องแคล่วในแบบเข้าไหนออกนั่นได้สะดวกโยธินมาพัฒนาให้ยอดเยี่ยม แม้แต่ราชสีห์ยังต้องพึ่งพิง เหมือนที่เราเคยอ่านในนิทานอีสป ดังนั้นสิ่งที่ต้องรักษาไว้เสมอคือจุดเด่นของตัวเอง รวมทั้งความคิดที่ค้ำจุนความเชื่อมั่น แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้คือจริต วิธีการแสดงออก ที่เหมาะสมกับภาษา