ปัญหาโลกแตกคิดไปทำไม

ได้มีภิกษุบ้าง ผู้อื่นบ้าง กราบทูลถามพระพุทธเจ้าในปัญหาเรื่องโลกว่ามีที่สุดหรือไม่ เป็นต้น พระพุทธเจ้าไม่ตรัสพยากรณ์ เพราะเป็นเรื่องไม่บังเกิดประโยชน์อะไร ไม่ทำให้ใครซึ่งมาสนใจในเรื่องดังกล่าวเป้นคนดีขึ้นและพ้นจากความทุกข์

แต่พระองค์ได้ตรัสพยากรณ์ปัญหาที่ทุกคนเผชิญอยู่เฉพาะหน้า ซึ่งอาจจะรู้ อาจจะปฏิบัติให้เป็นคนดี และพ้นทุกข์ได้ทุกๆ คน คือได้ทรงพยากรณ์ถึง ความจริงในเรื่องทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ และทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ที่เรียกว่า อริยสัจ ๔

ปัญหาเรื่องโลกอันไม่เป็นประโยชน์ในทางปฏิบัตินั้น พระพุทธเจ้าไม่ตรัสเลย มีเล่าไว้ในตำนานว่า

ภิกษุรูปหนึ่งซึ่งเคยเป็นพราหมณ์มาก่อนกราบทูลว่า ตนจะสึกถ้าไม่ทรงพยากรณ์ให้ฟัง พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า พระองค์ไม่ได้ทรงเชิญภิกษุนั้นมาบวช ทั้งไม่ได้ทรงรับรองว่า เมื่อบวชแล้วจะตรัสเรื่องนี้ ภิกษุนั้นขอมาบวชเอง

ปัญหาเรื่องโลกที่ไม่ตรัสพยากรณ์ดังกล่าวนั้น ก็ทำนองปัญหาเรื่อง กำเนิดโลก หรือถ้าพูดตามความรู้ปัจจุบันก็เช่นปัญหาว่า โลกเริ่มหมุนรอบที่หนึ่งตั้งแต่เมื่อไร จะหมุนรอบสุดท้ายและหยุดหมุนเมื่อไร ถึงใครจะตอบไม่ได้ก็ไมได้เกิดประโยชน์อะไร

สู้มาคิดในด้านเหตุผลเช่นอย่างแบบวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันไม่ได้ และเมื่อพบเหตุผลเช่นนี้แล้ว ก็อาจตอบได้ตามเหตุผล เช่นตอบว่า เมื่อเหตุต่างๆ พร้อมกันเมื่อไหร่ ผลคือความหมุนของโลกก็เริ่มมีเมื่อนั้น และเมื่อเหตุเหล่านั้นสลายตัวเมื่อไหร่ ผลดังกล่าวก็หยุดเมื่อนั้น ฉะนั้นพระธรรมของพระพุทธเจ้าจึงต้องอยู่ทุกกาลเทศะ

ในสมัยที่คนว่าโลกแบน อาทิตย์เดินรอบโลก และต่อมาคนรู้ว่าโลกกลม โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ จนถึงปัจจุบันนี้ คนกำลังพยายามค้นคว้า ติดต่อ และเดินทางไปยังโลกพระจันทร์๑ โลกพระศุกร์ เป็นต้น

หลักธรรมของพระพุทธเจ้า โดยเฉพาะหลักอริยสัจ ก็คงเป็นความจริงที่ถูกต้อง ใช้ได้อยู่ทุกสมัยที่ความคิดความรู้ของคนในทางต่างๆ คืบหน้าไป ทั้งเป็นความจริงของทุกๆ โลก ไม่คับแคบอยู่เฉพาะสมัยโน้น ซึ่งมาถึงสมัยนี้ความรู้ของคนหันหลังให้เสียแล้ว และไม่คับแคบอยุ่เฉพาะโลกนี้เท่านั้น แต่เป็นหลักแห่งสากลโลก

เหตุฉะนี้จึงมีคำแซ่ซ้องพระพุทธเจ้าทรงเป็น สัมมาสัมพุทโธ แปลว่า ผู้ตรัสรู้ชอบเอง เพราะได้ทรงปฏิบัติค้นพบพระธรรมอย่างถูกต้องขึ้นด้วยพระองค์เอง และทรงทราบหลักวิชาครูอย่างเอกอุ ทรงวางหลักศาสนาสั่งสอนให้โลกได้ทราบความจริง ซึ่งเป็นประโยชน์ช่วยคนปฏิบัติให้พันทุกข์ได้ทุกกาลสมัย


สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก