แค่ไหนถึงจะเรียกว่า..อนาจาร
..........อนาจาร คำนี้ทุกคนคงเคยได้ยิน นางแบบแก้ผ้าอนาจาร นมหกอนาจาร ไอ้นั่นอนาจาร ไอ้นี่อนาจาร เราลองมาดูกันว่า แท้จริงแล้ว การกระทำแค่ไหนถึงจะเรียกได้ว่า อนาจาร ตามกฎหมาย

กฎหมายกำหนดความผิดฐานอนาจารไว้ว่า การกระทำใดที่ควรขายหน้าต่อหน้าธารกำนัล โดยการเปลือยหรือเผยร่างกาย หรือทำการลามกอย่างอื่น โดยไม่มีโทษจำคุกแต่อย่างใด มีแต่เพียงโทษปรับไม่เกิน 500 บาท คืออนาจารยังไงก็เสียไม่เกิน 500 บาทนั่นเอง

กฎหมายบอกว่า แม้ตัวผู้กระทำเองไม่ขายหน้า แต่ถ้าควรขายหน้าก็ถือว่าอนาจารแล้ว ส่วนจะมีความผิดหรือไม่อย่างไรก็ต้องดูข้อเท็จจริงเป็นเรื่องๆไป เช่น การวิ่งแก้ผ้าเพื่อถ่ายภาพยนต์กลางที่สาธารณะชน เอามาเปรียบเทียบกับการวิ่งแก้ผ้าเพราะถูกคนบุกเข้ามาทำร้ายขณะกำลังอาบน้ำ จะเห็นว่า กรณีแรกผิดฐานอนาจาร ส่วนกรณีหลังไม่ผิด เพราะขาดเจตนา

ลองมาดูอีก เรื่องการ(เกือบ)เปลือยกายอาบน้ำบนรถ แล้วแห่ไปรอบเมือง จะเห็นได้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ขัดกับวัฒนธรรมไทย กฎหมายก็มาจากวัฒนธรรมที่ดีงามนั่นเอง แม้ว่าการอาบน้ำนั้นจะมีการเอากระจกมาบัง ใส่ผ้าสีเนื้อไว้ด้านใน แต่ก็ถือว่าเป็นการเปิดเผยร่างกายแล้ว เมื่อเทียบกับคุณย่าคุณยายที่อาบน้ำในลำคลองตามบ้านนอกที่อยู่ติดแม่น้ำ จะเห็นได้ว่าเจตนามันต่างกัน แต่อย่างไรก็ตาม สมัยนี้แล้ว การอาบน้ำ อาบท่าก็ควรกระทำในห้องน้ำตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ไม่งั้นคุณย่าคุณยาย อาจต้องไปโรงพัก เพราะผิดฐานอนาจารได้

เช่นกันกับกรณี การแก้ผ้ารำแก้บน คุณอาจจะไปบนบานอย่างไรไม่มีใครทราบ แต่หากต้องแก้ผ้าเพื่อแก้บนของคุณแล้ว ก็ต้องกระทำให้มิดชิด หากกันคนออกไปไม่ได้ ก็ต้องหาผ้าหรืออะไรมาปิดบังรอบบริเวณไว้ ไม่งั้นก็อาจผิดอนาจารได้ เช่นเดียวกันกับเรื่องเดินแฟชั่นโชว์ คือว่าจะเดินไม่ให้เต้ามันหลุดก็ทำได้ แต่ไม่ทำ จงใจปล่อยเต้าออกมา ก็น่าจะผิดฐานอนาจารเช่นกัน แต่ถ้าหากระมัดระวังดีแล้ว ก็ว่ากันอีกเรื่องหนึ่ง การจะทำอะไรต้องดูให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมไทยด้วย จะได้ไม่มีปัญหา

ที่ชอบอ้างกันว่าโกอินเตอร์ คนอื่นเค้าก็ทำได้นั้น แท้จริงเป็นการอ้างแบบเลื่อนลอย ต้องดูว่าคนที่อ้างถึงนั้นมันใคร และอยู่ประเทศไทย บางประเทศการเปลือยการไม่มีความผิด แต่ไม่ใช่ประเทศไทย เราอยู่ในประเทศไทยก็ควรเคารพกฎหมายไทย ที่สำคัญคือ ควรมีจิตสำนึกรับผิดชอบที่ดีด้วย มองเห็นประโยชน์แก่สังคมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว สังคมจะน่าอยู่และแข็งแรงกว่านี้มาก