กำลังแสดงผล 1 ถึง 2 จากทั้งหมด 2

หัวข้อ: 10 ข่าวดังการศึกษา - วัฒนธรรมปี 50

Hybrid View

คำตอบที่แล้วมา คำตอบที่แล้วมา   คำตอบถัดไป คำตอบถัดไป
  1. #1
    ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมหา สัญลักษณ์ของ lukhin_inter
    วันที่สมัคร
    Sep 2007
    ที่อยู่
    อิสานใต้ ประเทศไทย
    กระทู้
    1,860

    ดูวีดีโอ YouTube ออนไลน์ 10 ข่าวดังการศึกษา - วัฒนธรรมปี 50

    ....10ข่าวดังการศึกษา-วัฒนธรรมรอบปี50

    ค้านมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ

    การคัดค้านการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัย ต่าง ๆ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเด่นที่สุดแห่งปีสำหรับแวดวงการศึกษา ซึ่งเรื่องนี้แม้จะผลักดันกันมานานหลายสิบปี แต่เมื่อถึงเวลาต้องออกนอกระบบจริง ๆ กลับมีการรวมตัวคัดค้าน โดยเฉพาะจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.ศิลปากร และม.นเรศวร ที่แสดงท่าทีค้านหัวชนฝา ขนาดร่างกฎหมายผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ไปแล้วก็ยังไม่ยอมถอย แต่สุดท้าย ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยนเรศวรก็ถูกรั้งไว้จนได้ ขณะที่ร่างพ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลับผ่านฉลุยตามหลังเพื่อน ๆอย่าง ม.มหิดล ม.ทักษิณ ม.บูรพา ม.เชียงใหม่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังที่ล่วงหน้าไปเรียบร้อยแล้ว

    คำพิพากษาทำแอดมิชชั่นป่วน

    หลังจากศาลปกครองขอนแก่นมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวห้ามสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) นำมติที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มาบังคับใช้ที่ให้นำคะแนนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติพื้นฐาน หรือ O-net ครั้งแรกครั้งเดียวมาใช้ในการพิจารณาคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่ออุดมศึกษาด้วยระบบแอดมิชชั่น ตามที่เด็กซิ่ล 25 คน ยื่นฟ้อง เป็นเหตุให้การประมวลผลการแอดมิชชั่นปีการศึกษา 2550 ต้องสะดุดหัวทิ่มหัวตำ ส่งผลให้เด็กอีกกว่า 120,000 คน เสียขวัญต้องลุ้นจนตัวโก่ง แต่สุดท้ายก็จบลงด้วยเมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งระงับคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองขอนแก่น เพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่

    ห้ามฝากเด็ก-แป๊ะเจี๊ยะ

    เป็นอีกหนึ่งนโยบายโดนใจชาวบ้านที่กระทรวงศึกษา ธิการ โดยเสมา 1 ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ย้ำนักย้ำหนาย้ำแล้วย้ำอีก เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่เด็กและผู้ปกครองในการเข้าเรียน ห้ามโรงเรียนรับเด็กฝาก และห้ามรับเงินกินเปล่า หรือ แป๊ะเจี๊ยะ ถึงขนาดคาดโทษผู้บริหารโรงเรียนที่ฝ่าฝืนต้องได้รับโทษผิดวินัยร้ายแรง เรียกว่านอกจากจะเป็นนโยบายโดนใจคนยากคนจนแล้ว ยังถือเป็นเกราะกำบังให้ผู้บริหารได้มีข้ออ้างในการตอบปฏิเสธกับบรรดาพวกมีเส้นทั้งหลายอีกด้วย แต่ในอีกด้านหนึ่งสำหรับผู้บริหารบางคน ประเภทหมูไม่กลัวน้ำร้อนกลับมองว่านโยบายนี้ทำให้ราคาค่าเก้าอี้แพงขึ้น เพราะถือว่าความเสี่ยงสูงขึ้น จากที่เคยอยู่แค่หลักหมื่นปลาย ๆ ก็ทะลุไปถึงหลักแสนกันซะให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย

    ถ่ายโอนสถานศึกษาให้ท้องถิ่น

    การถ่ายโอนสถานศึกษาขั้นพื้นฐานให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นเรื่องที่สืบเนื่องยืดเยื้อมาหลายปี เพราะมีการยื้อยุดกันอยู่ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการกับกระทรวงมหาดไทย แต่แล้วสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็ต้องทยอยถ่ายโอนโรงเรียน ถึงแม้จะยังคงมีเรื่องวุ่น ๆ ของบุคลากรและงบประมาณอยู่ก็ตาม เพราะเรื่องนี้ถูกระบุไว้ในกฎหมายจึงไม่อาจเลี่ยงได้ แต่ก็ขอสงวนไว้ได้เพียงส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ตามเรื่องการถ่ายโอนไม่ได้หยุดอยู่แค่ที่สถานศึกษาขั้นพื้นฐานเท่านั้น เพราะตอนนี้กำลังเดินไปถึงคิวของสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และห้องสมุดประชาชนระดับจังหวัดและอำเภอของสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) แล้ว ก็ต้องรอดูว่ารัฐบาลชุดใหม่จะทำอย่างไรกับเรื่องนี้

    สุดวุ่นเงินทุนการศึกษา

    ปี 2550 ถือเป็นปีที่วุ่นวายมาก ๆ เกี่ยวกับเรื่องของทุนการศึกษา ไล่ตั้งแต่การยกเลิกกองทุนเงินให้กู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) และโอนเด็กที่มีคุณสมบัติเข้าตามหลักเกณฑ์ของกองทุนเงินให้กู้ยืมทางการศึกษา (กยศ.) ไปอยู่กับ กยศ. ส่วนใครที่ไม่เข้าเกณฑ์ก็ให้อยู่กับ กรอ.ไปจนจบการศึกษา แต่ในความเป็นจริงผลจากการยุบกรอ.ทำให้เด็กบางคนต้องออกกลางคันเพราะไม่มีเงินสำรองจ่ายค่าเทอม ผ่านจากเรื่องทุนกรอ. ก็มาเจอมติคณะรัฐมนตรีที่ให้ยกเลิกโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัวอีก ซึ่งส่งผลให้ทุนการศึกษาตามโครงการแก้ไขปัญหาเด็กยากจนและเด็กด้อยโอกาส และโครงการเขียนเรียงความสำหรับเด็กและเยาวชนที่ใช้เงินจากรายได้การขายสลากต้องพับไปด้วย ทำเอาบรรดาเด็ก ๆ ที่รอรับเงินหงุดหงิดกันใหญ่

    กฎหมายการศึกษาเข้าคิวผ่าน

    ต้องถือว่า ปี 2550 เป็นปีทองของกฎหมายด้านการศึกษา เพราะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะร่างกฎหมายรองรับมหาวิทยาลัยนอกระบบ ซึ่งผ่านถึง 7 ฉบับ นอกจากนี้ยังมีร่างกฎหมายที่ผลักดันกันมานานหลายปีและเพิ่งสำเร็จในปีนี้ เช่น ร่าง พ.ร.บ.การจัดการศึกษาพิเศษสำหรับคนพิการ ร่าง พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน ร่าง พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา และร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย งานนี้ต้องยกนิ้วให้ ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รมว. ศึกษาธิการ ที่สามารถทั้งผลักทั้งดันได้สำเร็จ ขนาดฉบับที่อยู่ลำดับท้าย ๆ อย่าง ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และร่าง พ.ร.บ.ลูกเสือ ที่เกือบจะหลุดเพราะมีคิววันสุดท้ายของการประชุมสภา ก็ยังมีอภินิหารได้เลื่อนขึ้นมาพิจารณาก่อนจนผ่านไปได้เรียบร้อย

    พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ

    ความร้อนแรงในวงการศาสนารอบปี 50 คงจะต้องยกให้กรณีเครือข่ายองค์กรชาวพุทธรวมพลังทั่วประเทศกดดันให้มีการบรรจุคำว่า พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ จนถึงขั้นตั้งวัดประท้วงที่หน้ารัฐสภา นอนในโลงศพ อดอาหาร แต่ความพยายามก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่เล่นด้วยจากเหตุผลและมุมมองที่มีในหลาย ๆ มิติ แต่ถึงอย่างไรร่างรัฐธรรมนูญก็ผ่านการลงประชามติ และประกาศใช้จนได้ แม้จะไม่มีการบรรจุคำว่า พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติก็ตาม

    ภิกษุสันดานกา

    ตัวแทนพระสงฆ์นับร้อยรูปยื่นหนังสือประท้วงขอให้มหาวิทยาลัยศิลปากร ระงับการแสดงภาพ “ภิกษุสันดานกา” ของนายอนุพงษ์ จันทร ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 เหรียญทองประเภทจิตรกรรม จากการประกวดผลงานศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 53 ประจำปี 2550 เพราะเห็นว่าดูหมิ่นพระภิกษุสงฆ์ ในขณะที่เจ้าของผลงานอ้างว่าเป็นการสะท้อนมุมมืดของพระสงฆ์ที่มีอยู่จริงในสังคมไทย เล่นเอาคณะกรรมการตัดสินภาพออกอาการปวดหัวอยู่พักใหญ่ แต่ด้วยจุดยืนของอิสรภาพในการแสดงออกทางศิลปะ จึงมีมติที่จะจัดแสดงภาพต่อไปตามกำหนดเดิม รวมทั้งศิลปินเองก็ยังยืนยันที่จะสร้างผลงานในแนวเดิมต่อไป

    ไม่ใส่กางเกงใน

    ประเด็นข่าวนี้สร้างความฮือฮาอย่างมาก โดยเฉพาะกับสังคมไทยที่เชื่อว่า เด็กผู้หญิงทุกคนยังมียางอาย แต่จากอุบัติเหตุกับรถจักรยานยนต์ที่ทำให้วัยรุ่นหญิง 2 คนที่นครศรีธรรมราช ถึงกับสลบเหมือดกลางถนน นอนโชว์ของสงวนอล่างฉ่างแบบไม่มีกางเกงในปกปิด จึงทำให้คนไทยทั้งประเทศได้รับรู้ว่า แฟชั่นที่เลียนแบบมาจากดารานักร้องต่างประเทศได้เข้าถึงเมืองไทยเรียบร้อยแล้ว งานนี้ผู้หลักผู้ใหญ่หลายหน่วยงาน โดยเฉพาะกระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงสาธารณสุขก็ได้แต่ออกมาเตือนให้ตระหนักถึงภัยที่จะตามมา ส่วนเด็กสาว ๆ ทั้งหลายจะเชื่อมากน้อยแค่ไหนก็ต้องขึ้นอยู่กับสติปัญญาของแต่ละคน

    แอ๊บแบ๊ว

    นอกจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงห่วงภาษาไทยและความเป็นไทยแล้ว กรณีของการใช้ภาษาแบบแอ๊บแบ๊วก็เป็นอีกประเด็นที่ถือว่าปลุกให้คนไทยตื่นตัวหันมาใส่ใจกับการอนุรักษ์การใช้ภาษาไทยกันมากขึ้น เพราะปัจจุบันคนไทยโดยเฉพาะเด็ก ๆ ไม่ค่อยใส่ใจกับการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง เรียกว่าปล่อยปละละเลยกันมานาน มีการใช้ภาษาแบบเพี้ยน ๆ สะกดผิดสะกดถูกกันจนเคยชิน ทั้งภาษาพูด ภาษาเขียน จนเด็กบางคนไม่รู้แล้วว่า การเขียนการพูดที่ถูกต้องเป็นอย่างไร รวมถึงมีการบัญญัติคำศัพท์ใหม่ ๆ ขึ้นมามากมาย ส่วนคำว่า “แอ๊บแบ๊ว” จะมีที่มาอย่างไร ยังหาข้อสรุปที่ชัดเจนไม่ได้แต่ก็ทำให้ราชบัณฑิตยสถานให้ความสนใจถึงกับทำพจนานุกรมคำศัพท์วัยโจ๋ขึ้นมาแล้ว.


    ขอบคุณ ทีมข่าวการศึกษา
    หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


    อุปสรรคเป็นได้ทั้งบันไดให้ก้าวขึ้นไป...หรือ
    เป็นภูผาที่ขวางกั้น...ขึ้นอยู่กับว่าจะมองมุมไหน

  2. #2
    นักปราชญ์เมืองอีสาน
    ศิลปินนักแต่ง ผญา
    สัญลักษณ์ของ ศรีสะท้าน
    วันที่สมัคร
    Aug 2006
    กระทู้
    4,179
    ดี ครับ ดี ได้รู้เห็นส่องซอดในแต่ละแนวความคิดของแต่ละบุคคล แต่ละกลุ่มชน ว่าป็นจั่งได๋ บทสรุปสุดท้ายกะน่าสิบ่อมีไผผิดไผถืกไปเสียทุกอย่างดอกเนาะ
    วรรณคดีล้ำลำนำเอื้อนเอ่ย เขยภาษาพากษ์เว้าลาวพื้นกล่าวไกล

Tags for this Thread

กฎการส่งข้อความ

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •