กำลังแสดงผล 1 ถึง 2 จากทั้งหมด 2

หัวข้อ: ตามรอย พระพุทธเจ้า ในดินแดนอีสานบ้านเฮา

  1. #1
    ดูแลตรวจสอบเนื้อหา สัญลักษณ์ของ ต้นข้าว
    วันที่สมัคร
    Dec 2007
    กระทู้
    588

    ตามรอย พระพุทธเจ้า ในดินแดนอีสานบ้านเฮา

    ตามรอย พระพุทธเจ้า ในดินแดนอีสานบ้านเฮา

    แม้ต้นกำเนิดของพระพุทธศาสนาจะอยู่ที่ประเทศอินเดีย และตัวของพระพุทธองค์เองก็เชื่อว่าประทับอยู่ที่ประเทศอินเดีย แต่ก็มีเรื่องเล่าและตำนานเล่าขานกันมาว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาเยือนประเทศไทยในแถบภาคอีสาน และเมืองต่างๆ ในแถบลุ่มน้ำโขงนี้ อีกทั้งพระองค์ยังได้ทรงพยากรณ์ว่า ดินแดนในแถบนี้ต่อไปพระพุทธศาสนาจะเจริญรุ่งเรือง

    สำหรับในดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำโขง มีตำนานเรื่องเล่าเก่าแก่ที่เรียกกันว่า “อุรังคนิทาน” บอกเล่าเรื่องราวที่เป็นตำนานเกี่ยวกับการเสด็จมาเยือนของพระพุทธเจ้าในบ้านเมืองต่างๆ แถบลุ่มแม่น้ำโขง เรื่องของการที่พระองค์เสด็จมาประทับรอยพระพุทธบาท อีกทั้งยังเล่าถึงประวัติการสร้างก่อสร้างพระธาตุพนม ซึ่งเป็นพระธาตุที่บรรจุพระอุรังคธาตุ หรือกระดูกส่วนหน้าอกของพระพุทธเจ้าไว้อีกด้วย

    ตามรอย พระพุทธเจ้า ในดินแดนอีสานบ้านเฮา
    เชื่อกันว่าใครได้มาไหว้พระธาตุพนมครบ 7 ครั้งจะได้กุศลแรงยิ่งนัก


    การเดินทางมาเยือนภาคอีสาน จึงเป็นโอกาสดีสำหรับพุทธศาสนิกชนที่จะได้มาตามรอยพระพุทธเจ้า กราบสักการบูชาพระธาตุและรอยพระพุทธบาท และยังได้เดินทางท่องเที่ยวไปในพุทธสถานที่สำคัญของทางภาคอีสานอีกด้วย

    • “พระธาตุพนม” ศูนย์รวมจิตใจคนสองฝั่งน้ำโขง

    “พระธาตุพนม” พระธาตุองค์สำคัญที่ประดิษฐาน ณ วัดพระธาตุพนมวรวิหาร ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ถือเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในสองฝั่งลุ่มแม่น้ำโขง ในอุรังคนิทานนั้นได้กล่าวถึงความเป็นมาของพระธาตุพนมว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมายังหนองคันแทเสื้อน้ำ (เวียงจันทน์) และได้ทำนายว่าจะมีบ้านเมืองใหญ่เป็นที่ตั้งของพระพุทธศาสนาขึ้นที่นี่ จากนั้นก็ได้เสด็จไปยังที่ต่างๆ จนเดินทางมาถึงที่ ดอยกปณคีรี หรือภูกำพร้า และพระพุทธองค์ก็ได้กล่าวว่า เป็นประเพณีของพระพุทธเจ้าในอดีตทั้ง 3 พระองค์ในภัทรกัลป์ที่ปรินิพพานไปแล้ว ย่อมนำเอาพระบรมธาตุมาบรรจุไว้ ณ ภูกำพร้า เมื่อเราปรินิพพานไปแล้ว พระมหากัสสปเถระผู้เป็นสาวก ก็จะนำเอาพระธาตุมาบรรจุเช่นเดียวกันดังนี้

    ตามรอย พระพุทธเจ้า ในดินแดนอีสานบ้านเฮา
    ผอูบสำริดที่บรรจุพระอุรังคธาตุภายในพระธาตุพนม


    และเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน พระมหากัสสปเถระได้มาเคารพพระบรมศพ เมื่อนั้นพระอุรังคธาตุก็เสด็จออกมาอยู่ในฝ่ามือของพระมหากัสสปะ และเปลวไฟก็ได้ลุกโชติเผาพระบรมสรีระของพระพุทธเจ้าเองอย่างน่าอัศจรรย์ หลังจากนั้นในราว พ.ศ.8 พระมหากัสสปะพร้อมด้วยพระอรหันต์ 500 องค์จึงได้นำเอาพระอุรังคธาตุมาบรรจุไว้ที่ภูกำพร้า และมีบรรดากษัตริย์ในเมืองใกล้เคียงมาช่วยสร้างพระธาตุเจดีย์ให้สมพระเกียรติ

    หลังจากการสร้างครั้งแรก พระธาตุพนมก็ได้มีการบูรณะอีกหลายครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งก็ได้มีการต่อเติมเสริมรูปแบบกันไปบ้าง แต่ครั้งที่พระธาตุพนมเปลี่ยนรูปแบบไปมากที่สุดก็คงเป็นเมื่อ พ.ศ.2518 องค์พระธาตุพนมได้พังทลายลงทั้งองค์เนื่องจากความเก่าแก่ สร้างความสะเทือนใจให้แก่พุทธศาสนิกชนผู้ที่เคารพศรัทธาเป็นจำนวนมาก

    ในการพังทลายของพระธาตุพนมนั้น ทำให้ได้พบวัตถุสิ่งของมีค่ามากมายกว่า 14,700 ชิ้น โดยบางส่วนก็นำไปบรรจุไว้ในพระธาตุตามเดิม บางส่วนก็นำมาไว้ในพิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุพนมวรวิหาร นอกจากนั้นก็ยังได้พบพระอุรังคธาตุอยู่บนกองอิฐปูนที่พังลงมา โดยพระอุรังคธาตุนี้ได้บรรจุไว้อย่างซับซ้อนถึง 7 ชั้นด้วยกัน



    ตามรอย พระพุทธเจ้า ในดินแดนอีสานบ้านเฮา
    พระพุทธบาทบัวบก ในจังหวัดอุดรธานี


    และอีก 4 ปีต่อมา ใน พ.ศ.2522 การบูรณะก่อสร้างพระธาตุพนมองค์ปัจจุบันก็ได้สำเร็จลง และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ ก็ได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุขึ้นประดิษฐานไว้ในองค์พระธาตุ เพื่อให้เป็นที่บูชาของประชาชนเหมือนเช่นเดิม

    • กราบรอย “พระพุทธบาทบัวบก” จ.อุดรธานี

    ตามตำนานอุรังคนิทาน ได้กล่าวถึงการเสด็จมาประทับรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าไว้ในสถานที่แต่ละแห่งในแถบสองฝั่งลุ่มแม่น้ำโขง โดยที่ “พระพุทธบาทบัวบก” ณ วัดพระพุทธบาทบัวบก ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ก็เป็นแห่งหนึ่งที่พระพุทธองค์ได้เสด็จมาประทับรอยพระพุทธบาทไว้

    ตามตำนานของรอยพระพุทธบาทนี้เล่าแทรกไว้ในอุรังคนิทานว่า เทือกเขาแห่งนี้เดิมเป็นที่อยู่ของพญานาคชื่อว่า มิลินทนาค และกุทโธปาปนาค ซึ่งมีความดุร้ายต่อมนุษย์และสัตว์อื่นๆ อยู่เสมอ ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าได้เสด็จมายังบริเวณแคว้นศรีโคตรบูรณ์ หรือบริเวณแถบลุ่มน้ำโขงในปัจจุบัน พระองค์จึงเสด็จมาที่ภูพระบาท และทรงปราบพญานาคเหล่านี้ และทำให้พญานาคมีจิตใจเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา และก่อนที่พระองค์จะเสด็จจากไปก็ทรงประทับรอยพระบาทไว้เพื่อให้บรรดานาคได้บูชาอีกด้วย

    ตามรอย พระพุทธเจ้า ในดินแดนอีสานบ้านเฮา
    รอยพระพุทธบาทภายในพระพุทธบาทบัวบก


    สำหรับรอยพระพุทธบาทที่พระพุทธบาทบัวบกนี้ แต่เดิมได้มีสถูปเก่าแก่สร้างครอบไว้ เชื่อว่าสร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.2300 ต่อมา พระอาจารย์ศรีทัต สุวรรณมาโจ ได้มาจำพรรษาที่นี่และได้พบสถูปร้าง จึงได้ชักชวนชาวบ้านญาติโยมมาบูรณะสถูปขึ้นใหม่เมื่อประมาณปี พ.ศ.2460 เมื่อรื้อสถูปเก่าออกจึงพบว่าภายในมีรอยพระพุทธบาทอยู่ จึงสร้างพระเจดีย์ครอบใหม่โดยสร้างตามรูปของแบบพระธาตุพนมองค์เดิม แต่พระเจดีย์องค์ปัจจุบันนี้ก็ได้มีการบูรณะขึ้นใหม่อีกหลายครั้ง จนเป็นรูปทรงอย่างที่เห็น และปัจจุบันพระพุทธบาทบัวบกแห่งนี้ก็เป็นสถานที่ที่มีพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและชาวลาวมากราบไหว้อยู่เสมอ

    อีกทั้ง ในบริเวณใกล้เคียงกันก็ยังมี “ถ้ำพญานาค” ที่เชื่อว่าเป็นที่อยู่ของพญานาคมิลินทนาค ซึ่งมีลักษณะเป็นโพรงขนาดใหญ่อยู่ใต้ชะง่อนหิน และเชื่อกันว่าในถ้ำพญานาคนี้สามารถทะลุไปออกยังแม่น้ำโขงได้ ทั้งนี้ พุทธศาสนิกชนผู้ที่มาเยือนอุทยานภูพระบาทแห่งนี้ และได้มากราบรอยพระพุทธบาทแล้ว ก็อย่าลืมไปชมประติมากรรมหินซึ่งเป็นฝีมือของธรรมชาติ เช่น หอนางอุสา และถ้ำต่างๆ มากมาย

    ตามรอย พระพุทธเจ้า ในดินแดนอีสานบ้านเฮา
    พระธาตุเชิงชุม ที่ชุมนุมรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าสี่พระองค์


    • “พระธาตุเชิงชุม” ชุมนุมรอยพระพุทธบาท

    ในจังหวัดสกลนครนั้นมีพระธาตุสำคัญแห่งหนึ่งที่มีความน่าสนใจ นั่นก็คือ “พระธาตุเชิงชุม” ประดิษฐาน ณ วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร วัดแห่งนี้เดิมเป็นวัดราษฎร์ แต่ต่อมาได้รับการยกเป็นพระอารามหลวง และถือเป็นวัดสำคัญในจังหวัดสกลนคร สำหรับพระธาตุเชิงชุมนั้น คำว่าเชิงหมายความถึงตีนหรือเท้า (เช่นคำว่าเชิงเขา) ส่วนคำว่าชุมนั้นก็หมายถึงการมาชุมนุม ดังนั้น คำว่าเชิงชุมในที่นี้จึงหมายความถึงการที่มีรอยพระพุทธบาทมาชุมนุมกันถึง 4 รอย

    ประวัติของพระธาตุเชิงชุมในตำนานอุรังคนิทานนั้น ได้กล่าวไว้ว่า เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จมายังแคว้นศรีโคตรบูรณ์ ก็ได้เสด็จมายังภูกำพร้า หรือที่ตั้งของพระธาตุพนมในปัจจุบัน และได้เสด็จผ่านมายังเมืองหนองหารหลวง หรือสกลนครในปัจจุบัน เพื่อเสด็จมาประทับรอยพระพุทธบาทไว้ที่นี่ เนื่องจากสถานที่แห่งนี้เคยเป็นที่ประทับรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าในอดีตมาแล้ว 3 พระองค์ และในอนาคตก็จะเป็นที่ประทับรอยพระพุทธบาทของพระศรีอริยเมตไตร ที่เชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้าองค์สุดท้ายในภัทรกัลป์ด้วยเช่นกัน

    เชื่อกันว่าแผ่นหินที่พระพุทธเจ้าทั้งสี่พระองค์ได้มาประทับรอยพระพุทธบาทไว้นั้น มีพญาสุวรรณนาค ซึ่งเป็นพญานาคเป็นผู้เก็บรักษาไว้ใต้น้ำ เพื่อรอพระศรีอริยเมตไตรมาประทับรอยพระพุทธบาทเป็นองค์สุดท้าย และสำหรับพระธาตุเชิงชุมนี้ พระเจ้าสุวรรณภิงคาร กษัตริย์ที่ครองเมืองหนองหารหลวงในขณะนั้น เป็นผู้สร้างขึ้นไว้เพื่อเป็นที่สักการบูชาของประชาชนทั่วไปอีกด้วย

    ตามรอย พระพุทธเจ้า ในดินแดนอีสานบ้านเฮา
    ภายในพระธาตุเชิงชุม


    การจะเข้าไปสักการะด้านในพระธาตุเชิงชุมนั้น สามารถเข้าไปได้ทางเดียวคือทางด้านหลังวิหารหลวงพ่อองค์แสนซึ่งอยู่ติดกับองค์พระธาตุ ซึ่งภายในพระธาตุนั้นจะมีลักษณะคล้ายถ้ำอันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปไว้หลายองค์ด้วยกัน เชื่อว่าภายในพระธาตุนี้เป็นส่วนหนึ่งของซากเทวสถานขอม โดยยังคงจะเห็นจารึกภาษาขอมอยู่ที่กรอบประตูทางเข้าองค์พระธาตุ

    หลวงพ่อองค์แสนก็เป็นพระพุทธรูปสำคัญแห่งวัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหารเช่นกัน โดยเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่มีพุทธลักษณะสวยงามมาก โดยเป็นการผสมผสานของหลายสกุลศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นศิลปะเชียงแสน ศิลปะล้านช้าง และศิลปะสุโขทัย นอกจากนั้นภายในวัดก็ยังมีสิ่งสำคัญอย่าง “ภูน้ำลอด” ซึ่งเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ มีมาพร้อมกับพระธาตุเชิงชุม น้ำในบ่อแห่งนี้ไหลมาจากเทือกเขาภูพาน ถือเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่นำไปใช้ในพิธีกรรมต่างๆ

  2. #2
    ดูแลตรวจสอบเนื้อหา สัญลักษณ์ของ ต้นข้าว
    วันที่สมัคร
    Dec 2007
    กระทู้
    588

    ตามรอย “พระพุทธเจ้า” ในดินแดนอีสานบ้านเฮา 2

    • สักการะสังเวชนียสถาน 4 ตำบลในอีสาน

    นอกจากพระธาตุและรอยพระพุทธบาทแล้ว ในภาคอีสานก็ยังมีพุทธสถานที่สำคัญอย่าง “สังเวชนียสถานจำลอง” ให้ได้สักการะกันด้วย

    ตามรอย “พระพุทธเจ้า” ในดินแดนอีสานบ้านเฮา 2
    ลุมพินีวัน สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า (จำลอง)


    สังเวชนียสถาน 4 ตำบลซึ่งอยู่ในประเทศอินเดีย อันเป็นสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ถือเป็นสถานที่สำคัญที่พุทธศาสนิกชนต่างก็ต้องการจะไปกราบสักการะให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต เนื่องจากในปรินิพพานสูตรได้มีการกล่าวไว้ว่า ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จปรินิพพาน พระอานนท์ได้กราบทูลถามว่า

    “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แต่กาลก่อนมาหลังจากออกพรรษาแล้ว มีภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา มากราบไหว้พระพุทธองค์อย่างเนืองแน่น บัดนี้พระพุทธองค์จะปรินิพพานแล้ว จะให้พวกข้าพระองค์กราบไว้บูชาสิ่งใดพระเจ้าข้า”

    พระพุทธองค์ตอบพระอานนท์ว่า “ดูก่อนอานนท์ หลังจากเราตถาคตปรินิพพานแล้ว พวกเธอมีความรำลึกถึงเรา เดินตามรอยแห่งเรา จงพากันกราบไหว้สถานที่ทั้ง 4 ของเรา คือ ลุมพินีวัน สถานที่เราประสูติหนึ่ง โพธิมณฑล สถานที่เราตรัสรู้หนึ่ง ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน สถานที่เราแสดงปฐมเทศนาหนึ่ง และกุสินารานคร สถานที่เราจะปรินิพพานนี่แหละอานนท์ เป็นสถานที่สักการบูชา เป็นเนื้อนาบุญของพวกเธอทั้งหลายสืบต่อไป”

    ตามรอย “พระพุทธเจ้า” ในดินแดนอีสานบ้านเฮา 2
    เจดีย์พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า (จำลอง)


    พุทธศาสนิกชนไทยที่มีความศรัทธาก็อาจไม่มีโอกาสเดินทางไกลไปแสวงบุญถึงอินเดีย แต่ก็สามารถมาสักการะสังเวชนียสถาน 4 ตำบลได้ในประเทศไทย ณ วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม หรือวัดถ้ำพวง อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนครแทนได้ โดยสังเวชนียสถานจำลองนี้เกิดขึ้นจากแรงศรัทธาของ พระอาจารย์วัน อุตฺตโม พระวิปัสสนากรรมฐานสายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นผู้ริเริ่ม โดยใช้เวลาก่อสร้างทั้งหมด 6 ปีเต็ม มีค่าใช้จ่ายกว่า 16 ล้านบาท

    สังเวชนียสถานแห่งนี้ ได้จำลองเอาสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าที่ลุมพินีวัน โดยมี “เจดีย์สิริมหามายา” ที่ภายในมีรูปจำลองเหตุการณ์ที่พระนางสิริมหามายาทรงยืนเหนี่ยวกิ่งต้นสาละ และเจ้าชายสิทธัตถะที่เพิ่งประสูติจากครรภ์มารดาทรงยืนอยู่ที่พื้นและมีดอกบัวรองรับพระบาท พร้อมทั้งทรงเปล่งพระสุรเสียงว่า “เรานี้ประเสริฐยิ่งในโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายแห่งเรา” อีกทั้งด้านหน้าของเจดีย์ก็มีเสาหินพระเจ้าอโศกมหาราชจำลองเท่าของจริง

    ตามรอย “พระพุทธเจ้า” ในดินแดนอีสานบ้านเฮา 2
    สารนาถ สถานที่แสดงปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้า (จำลอง)


    ถัดจากสถานที่ประสูติ ก็คือสถานที่ตรัสรู้ ซึ่งก็คือใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ ที่เมืองอุรุเวลาเสนานิคมโดยที่วัดถ้ำพวงนี้ได้จำลองเอา “พระเจดีย์ศรีมหาโพธิ์” หรือ “เจดีย์พุทธคยา” ที่สร้างในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช แต่ย่อส่วนลงมาจากองค์จริง ผู้ที่เข้ามาชมสามารถเดินขึ้นไปบนองค์พระเจดีย์และกราบสักการะพระพุทธรูปที่อยู่ด้านในได้

    สถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ก็ถือเป็นหนึ่งในสังเวชนียสถาน 4 ตำบล สำหรับของจริงที่ประเทศอินเดียนั้น จะเป็นพระเจดีย์ปิดไม่มีประตูหน้าต่าง แต่สำหรับพระเจดีย์ที่จำลองมานี้ได้ย่อส่วนให้เล็กลงและจัดทำให้มีช่องประตูหน้าต่างและมีพระพุทธรูปอยู่ด้านใน ผู้ที่มาสักการะสามารถเข้าไปกราบพระพุทธรูปภายในได้

    ตามรอย “พระพุทธเจ้า” ในดินแดนอีสานบ้านเฮา 2
    กุสินารา สถานที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า (จำลอง)


    ส่วนสังเวชนียสถานแห่งสุดท้ายคือ สถานที่ปรินิพพานที่เมืองกุสินารา สังเวชนียสถานแห่งนี้ก่อสร้างจำลองจากประเทศอินเดียมาทุกประการ แต่ย่อส่วนให้เล็กลง ภายในเป็นห้องโถงใหญ่ มีพระพุทธรูปปางปรินิพพานประดิษฐานอยู่ พร้อมทั้งพระสาวกอีกสามองค์คือ พระอานนท์ พระอนิรุทธ และพระสุภัททะ นั่งอยู่เบื้องหน้า

    พุทธสถานทั้ง 4 แห่งที่กล่าวมา ก็ล้วนแล้วแต่มีความเป็นมาที่น่าสนใจ และเป็นเส้นทางตามรอยพระพุทธเจ้าที่พุทธศาสนิกชนสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวไปสักการะได้ตามศรัทธา


    * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

    สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับเส้นทางตามรอยพระพุทธเจ้าได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือเขต 4 โทรศัพท์ 0-4251-3490

    * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 12 ธันวาคม 2550 14:54 น.

Tags for this Thread

กฎการส่งข้อความ

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •