"อภัยทานัง อามิสทานัง ชินาติ" ซึ่งแปลว่า "การให้อภัยทานย่อมชนะเสียซึ่งการให้ทั้งปวง" ดังนี้

คำว่า ทาน แปลว่า การให้
การให้นี้มีอยู่ ๒ อย่างด้วยกันที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าท่านตรัสไว้
ให้สรรพสิ่งของต่าง ๆ อย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า อามิสทาน ได้แก่ การให้วัตถุ จะเป็นเงินหรือวัตถุสิ่งของ เครื่องใช้ เครื่องบริโภคก็ตาม เรียกว่า อามิสทานทั้งนั้น

ทานอิกส่วนหนึ่งที่องค์สมเด็จภควันต์ทรงกล่าวก็ได้แก่  ธรรมทาน ธรรมทานในที่นี้ก็ได้แก่ การบอกธรรม คำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระชินวรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ชี้เหตุผล ให้รุ้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว อย่างนี้เป็นต้นอย่างหนึ่ง อย่างนี้เขาเรียกว่า ธรรมทาน

ธรรมทาน อิกส่วนหนึ่งที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ากล่าวว่าสำคุญที่สุดจัดว่าเป็น ปรมัตถทาน คือ เป็นทานที่ไม่ต้องลงทุน คือ อภัยทาน

ทานทั้งสองอย่างนี้ คือ อามิสทานกับอภัยทานนี้มีผลต่างกัน อามิสทานนั้นให้ผลอย่างสูงก็แค่กามาวจรสวรรค์ ตามนัยที่องค์สมเด็จพระพิชิตมารตรัสไว้ว่า "ทานัง สังคคโส ปาณัง" คือว่า การให้ทานย่อมเป็นปัจจัยเป็นบันไดไปสู่สวรรค์ นี่สำหรับ อามิสทาน แต่สำหรับ ธรรมทาน กล่าวคือ ให้ธรรมเป็นทานก็ดี ให้อภัยทานก็ดี ให้อภัยทานก็ดี ทานทั้งสองประการนี้เป็นปัจจัยแห่งพระนิพพาน

สำหรับธรรมทาน ทานที่ ๒ นี่มีความสำคัญมาก การให้ธรรมเป็นทานกล่าวคือ นำพระคำคำสั่งสอนของสมเด็จพระชินวรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เอามาแนะนำแก่บรรดาท่านพุทธบริษัท ถ้าเทศน์เองไม่เป็นก็ไปหาคนอื่นมาเทศน์แทน อย่างนี้ก็ชื่อว่า เจ้าภาพเป็นผู้เทศน์เหมือนกัน เรียกว่าเอาคนมาพูดแทน การให้ธรรมทานเป็นปัจจัยใหญ่ เพราะการให้ธรรมทานบุคคลได้ฟังแล้วจะเกิดปัญญา สิ่งใดที่ไม่เคยรู้มาแล้วก็จะได้มีความรู้ขึ้น เมื่อมีความรู้แล้วก็เกิดความมั่นใจ มีปัญญาเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ใด บุคคลผู้นั้นก็เป็นผู้หลีกความทุกข์ได้ ถ้าปัญญามีมาก ก็หลีกความทุกข์ได้มาก ปัญญาน้อยก็หลีกความทุกข์ได้น้อย ดีกว่าคนที่ไม่มีปัญญาเลย ไม่มีโอกาสจะหลีกความทุกข์ได้ นี่ว่ากันถึงธรรมทาน

ธรรมทานอีกส่วนหนึ่งที่มุ่งหมายจะเทศน์กันในวันนี้ก็คือ อภัยทาน อภัยทานนี้เป็นการให้ทานที่ไม่ต้องลงทุนด้วยวัตถุ แล้วก็เป็นทานสูงสุด พระพุทธเจ้ากล่าวว่า ใครเป็นผู้มีอภัยทานประจำใจ คนนั้นก็เป็นผู้เข้าถึงปรมัตถบารมีแล้ว คำว่า ปรมัตถบารมีนี้ เป็นบารมีสูงสุดเป็นบารมีที่จะทำให้เข้าถึงซึ่งพระนิพพาน คำว่า อภัยทาน ก็ได้แก่ การให้อภัยซึ่งกันและกัน หามายความว่าคนใดก็ตาม เขาทำให้เราขุ่นเคือง ทำให้เราไม่ชอบใจ ด้วยกรณีใดๆก็ตาม ถ้าหากเราคิดพิจารณาเข่นฆ่าจองล้างจองผลาญ ถ้าเขาด่าเรา เราคิดว่าโอกาสสักวันหนึ่งข้างหน้าเราจะด่าตอบ เขาลงโทษเรา เราจะลงโทษเขาตอบ เขาตีเรา เราคิดว่าเราจะตีตอบ แต่โอกาส มันยังไม่มี คิดเข้าไว้ในใจว่า เราจะทำอันตรายตอบ อย่างนี้พระพุทธเจ้ากล่าวว่า เป็นอาฆาต คือ พยาบาท เป็นไฟเผาผลาญดวงจิต เพราะคนที่เรากำลังคิดจะฆ่าก็ดี คิดจะประทุษร้ายก็ดี นี่เขายังไม่ทันรู้ตัว เขามีความสุข เราคนที่คิดจะทำเขานั่นแหละ ตั้งแต่แรกหาความสุขไม่ได้ คบไฟแห่งความพยาบาทมันเข้าเผาผลาญ มีแต่ความร้อนรุ่มกลุ้มใจ คิดวางแผนการต่าง ๆ ว่า เราทำยังไงถึงจะแก้มือเขาได้ โดยคนอื่นเห็นว่าไม่มีความผิด อารมณ์ที่คิดอยู่อย่างนี้ ยังตัดสินใจไม่ได้ ยังทำไม่ได้ มันเป็นไฟเผาผลาญคนคิดนี่แหละ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ เพราะอำนาจโทสะเข้าสิงใจ นี่เอำนาจโทสะหรือพยาบาทมันเริ่มเผาผลาญตั้งแต่คิด แต่คนที่ถูกคิดประทุษร้ายนั้น เขายังมีความสุข ทีนี้ถ้าเราไปทำเขาเข้าอีก ไอ้โทษมันก็จะหนักขึ้น ทำเขาเข้าอีก เขายิ่งจะแก้มือใหญ่ ถ้าเขาไม่แก้มือ ทางกฏหมายก็จะยื่นมือมาช่วยเหลือ ความทุกข์ใหญ่ก็จะเกิดขึ้น





ธัมมวิโมกข์ ฉบับที่ ๑๐๖ หน้า ๗๕-๗๘