อันตรายจากจอคอมพิวเตอร์

เมื่อเทคโนโลยีทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ได้พัฒนาให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น จึงมีผลิตภัณฑ์ที่อำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์ขึ้นหลายอย่าง ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นเมื่อมีคุณอนันต์ก็มักจะมีโทษมหันต์ คอมพิวเตอร์ก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น เรื่องที่จะนำมากล่าวกันในที่นี้เป็นโทษจากจอคอมพิวเตอร์ กล่าวให้ชัดเจนก็คือโทษจากสารเคมีในจอคอมพิวเตอร์ที่แพร่ออกมาสู่ผู้ใช้นั่นเอง นายคอนนี่ ออสต์มาน จากมหาวิทยาลัยสต็อกโฮม ประเทศสวีเดน พบว่าสารประกอบทางเคมีชื่อ ไทรฟีนีล ฟอสเฟต (Triphenyl Phospate) ซึ่งเป็นสารป้องกันการติดไฟของพลาสติกในหลายผลิตภัณฑ์ รวมทั้งจอคอมพิวเตอร์ด้วยนั้น จะมีผลต่อสุขภาพของผู้ใช้หลายประการ เช่น ก่อให้เกิดอาการคัน คัดจมูก หรือปวดศีรษะได้ และตอนนี้มีคนทำงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ของประเทศสวีเดนจำนวนมากกำลังเกิดปัญหาสุขภาพ จากการแพ้สารนี้
การวิจัยที่สำคัญของทีมวิจัยพบว่า คอมพิวเตอร์สมัยใหม่นี้จะปล่อยสารพิษดังกล่าวมากกว่าคอมพิวเตอร์ที่ผลิตในอดีต ทีมวิจัยได้ทดลองวัดปริมาณสารดังกล่าวในพื้นที่หายใจ คือ ช่วงระยะประมาณ 2 ฟุตจากจอคอมพิวเตอร์ โดยให้อุณหภูมิของจออยู่ระหว่างช่วง 50-55 องศาเซลเซียส พบว่า จอคอมพิวเตอร์จะปล่อยสารนี้ลดลงอย่างมากหลังจากทำงานไป 8 วันโดยไม่มีการหยุดพักเครื่อง แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับที่สูงเป็นอันตราย และปริมาณของสารก็ยังคงสูงอยู่อีกแม้ว่าจะปฏิบัติงานติดต่อกันมากกว่า 183 วันโดยไม่หยุดพัก เวลาโดยเฉลี่ยแล้วเท่ากับ 2 ปีของการทำงานเฉลี่ยตามปกติ นายคอนนี่กล่าวว่าหากใช้คอมพิวเตอร์ในห้องเล็ก ๆ ที่มีทางระบายอากาศไม่เพียงพอด้วยแล้ว สารนี้จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ใช้อย่างมาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าคอมพิวเตอร์ทุกยี่ห้อจะปล่อยสารพิษมากเท่ากันหมด ถึงแม้ทุกยี่ห้อจะใช้สารเคมีตัวเดียวกันเป็นตัวป้องกันการติดไฟก็ตาม แต่ระดับของสารที่ใช้จะมากน้อยต่างกันไป
มีคอมพิวเตอร์ประมาณ 10-18 ยี่ห้อที่มีคุณภาพดีเป็นที่น่าพอใจ มีความปลอดภัยจากสารดังกล่าวนี้ แต่โดยจรรยาบรรณแล้ว ไม่สามารถเปิดเผยชื่อยี่ห้อได้ ฉะนั้นหากต้องทำงานกับคอมพิวเตอร์นาน ๆ แล้ว ขอแนะนำให้เปิดพัดลมและหน้าต่างไว้ เพื่อการระบายถ่ายเทอากาศได้ดี หรือควรจะมีการหยุดพักลุกไปเปลี่ยนอิริยาบทอย่างอื่นบ้าง น่าจะช่วยได้ไม่มากก็น้อย ผลจากการวิจัยดังกล่าวผู้ที่ทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ จึงไม่ควรละเลยต่อคำเตือนและหาทางป้องกันสารดังกล่าวเพื่อสุขภาพของท่านเอง