นอนกรน


นักข่าวสาธารณสุขต่อสาย น.พ.สมยศ ชัยธีระสุเวท วิทยากรประจำเว็บไซต์ไทยคลินิกดอตคอม ได้ความว่า

ปกติเวลาคนเรานอนหลับ กล้ามเนื้อที่ลิ้นและที่โคนลิ้นจะคลายตัวลงไปด้วย ทำให้ลิ้นตกลงไปปิดกั้นทางเดินหายใจ แต่ไม่ได้ปิดสนิท ทำให้อากาศที่เราหายใจผ่านจมูกและผ่านลงไปยังโพรงจมูกด้านหลังผ่านไปไม่สะดวกนัก เกิดอาการคล้ายการกระพือบริเวณที่โคนลิ้น ทำให้เกิดเป็นเสียงกรน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ

ถ้าหากวันไหนทำงานหนักหรือเหนื่อยมาก ก็จะนอนหลับสนิท ทำให้ลิ้นตกลงไปได้มากขึ้น ก็ยิ่งกรนหนักขึ้น แล้วโอกาสที่ร่างกายจะพลิกตัวขณะหลับก็มีน้อย ทำให้คนที่หลับสนิทมากๆ กรนได้มากกว่าคนทั่วไปด้วย

สำหรับวิธีแก้ไข คุณหมอสมยศ บอกว่า ให้นอนหนุนหมอนให้ศีรษะสูงขึ้น (แต่อย่าให้สูงมากเพราะอาจเกิดอาการปวดคอได้) หรือถ้ารู้ตัวว่าทั้งวันทำกิจกรรมมากจนเหนื่อย ก็ให้นอนหลับในท่าตะแคงหรือเกือบๆ คว่ำจะช่วยลดเสียงกรนได้

อาการดังที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ถือว่าเป็นความผิดปกติ และไม่ถือว่าเป็นโรค ไม่จำเป็นต้องรักษา

แต่ในอีกกรณีหนึ่งซึ่งมักเกิดกับคนอ้วน ที่มีสรีระบริเวณคอใหญ่ รวมทั้งเนื้อเยื่อในโพรงช่องปากด้านในใหญ่ด้วยหลายๆ ส่วนร่วมกัน ขัดขวางทางเดินของอากาศตอนหายใจ ทำให้กรนได้ง่ายหรือมากขึ้นถึงแม้จะไม่ได้หลับสนิท และจะทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนในขณะหลับน้อยลง ร่างกายก็จะเตือนตัวเองให้ตื่นขึ้นแบบไม่รู้ตัวเพื่อพลิกหรือขยับตัวให้หายใจได้คล่องขึ้นหรือตื่นเพื่อให้ร่างกายหลับตื่นขึ้น ลิ้นจะได้ไม่ตกลงไปขัดขวางทางเดินหายใจ

คุณหมอสมยศ บอกอีกว่า บางคนที่ร่างกายจะตื่นตลอดทั้งคืน โดยที่เจ้าตัวไม่รู้มักคิดว่าตัวเองหลับสนิทตลอดทั้งคืน มีผลทำให้ตอนเช้าไม่รู้สึกสดใส ทั้งๆ ที่นอนไปหลายชั่วโมง บางครั้งจะปวดศีรษะตอนตื่นนอนกลางวันก็จะง่วงเหงาหาวนอนตลอดทั้งวัน บางคนหลับฟุบไปกับหนังสือหรือพวงมาลัยขณะขับรถ เหมือนหลับในทั้งที่ไม่ได้อดนอนมา เวลาไปนั่งไหนก็จะสัปหงกอยู่ตรงนั้นเป็นประจำ ลักษณะแบบนี้ถือว่าเป็นโรคชนิดหนึ่ง เรียกว่า Obstructive Sleep Apnea (OSA)

คุณหมอสมยศ บอกด้วยว่า การจะวินิจฉัยว่าเป็นโรค OSA หรือไม่นั้นให้ดูประวัติลักษณะที่กล่าวมาแล้ว และอาจจะต้องเข้าทดสอบ Sleep lab คือต้องไปนอนค้างคืนในห้องที่จัดให้แล้วมีสายมอนิเตอร์ วัดคลื่นสมอง คลื่นหัวใจ ความเข้มของออกซิเจนในเลือดขณะหลับ เพื่อวัดดูว่าเมื่อมีการหลับลึก แล้วร่างกายขาดออกซิเจนแค่ไหน เทียบกับขณะกรน รวมถึงการที่ร่างกายต้องตื่นตัวเพื่อให้หลับตื้น ฯลฯ


อย่างไรก็ตามคุณหมอสมยศ บอกว่า คนที่นอนกรนบ่อยๆ ไม่ต้องเป็นกังวลมากนัก เพราะมีคนไทยเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่พบว่าเป็นโรค OSA เพราะคนที่เป็นโรคนี้ส่วนใหญ่มักเกิดในคนที่ตัวอ้วนมาก โดยเฉพาะชาวตะวันตกจะเป็นโรคนี้มากกว่าคนไทย คนส่วนใหญ่ที่นอนกรน ใช้การจัดท่านอนที่เหมาะสมก็จะช่วยได้แล้ว ที่เหลือเป็นองค์ประกอบบางอย่างในช่องปากด้านในที่ใหญ่ซึ่งก็แก้ไขไม่ยาก ทั้งนี้ทั้งนั้น เข้ารับการปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทางด้านหู คอ จมูก จะดีที่สุด

::)