กินอย่างเต๋าคือกินให้ร่างกายสมดุล สอดคล้องกับธรรมชาติ แต่ไหนแต่ไรมา คนจีนถือว่าอาหารกับยาเป็นเรื่องเดียวกันโดยสะท้อนให้เห็นผ่านคติที่เชื่อมโยงอาหารกับสุขภาพอย่างสำคัญในราชสำนักและชนชั้นปกครอง ที่เรียกกันในปัจจุบันว่า “โภชนบำบัด” นั่นเองค่ะ


กินอย่างเต๋า วิถีในการมีชีวิตที่สมบูรณ์ตามลัทธิเต๋า

ค่านิยมที่ถือว่าอาหารคือยารักษาโรค ยังสืบต่อมาในหมู่ชาวจีนสมัยปัจจุบันการวิจัยพฤติกรรมความเจ็บป่วยของคนจีนในไต้หวันและฮ่องกงพบว่า มากกว่าร้อยละ 90 ของคนจีนเริ่มรักษาอาการป่วยด้วยการเปลี่ยนอาหารก่อน

ในหมู่คนเอเชียทั่วไปก็เช่นกัน เมื่อมีอาการไม่สบาย ส่วนใหญ่ก็มักปรับอาหารก่อนทั้งนั้นค่ะ เช่น เมื่อเป็นหวัดจะไม่ดื่มน้ำเย็น หันมากินอาหารเหลวและดื่มน้ำอุ่นแทน เป็นต้น สะท้อนให้เห็นว่าชาวบ้านทั่วไปมองอาหารเชื่อมโยงกับสุขภาพอยู่แล้ว


โภชนาการแบบตะวันตกมองอาหารเป็นสารอาหารต่าง ๆ เช่น คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน วิตามิน และเกลือแร่ ฯลฯ โดยมิได้เชื่อมโยงกับสุขภาพของร่างกายโดยรวมและระบบอวัยวะโดยตรง แต่ในมโนทัศน์แบบเต๋า คนเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เป็นส่วนหนึ่งของเต๋า ร่างกายจึงประกอบด้วยหยินกับหยาง

อาหารจึงเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติประกอบด้วยหยินกับหยาง อาหารที่คนเรากินเข้าไปจึงมีผลต่อสมดุลหยิน-หยางในร่างกายมีผลต่อสุขภาพโดยตรง หยินกับหยางในสภาพปกติเป็นพลังตรงกันข้ามที่ประสานกันอย่างได้สมดุลดังสัญลักษณ์หยินหยางที่โค้งมนชิดกันในวงกลมที่เรียกว่า “ภาพแห่งความจริงแท้อันสูงสุด” (Diagram of Supreme Ultimate)

วงกลมคือเต๋า หยินเป็นสีดำ เปรียบเสมือนด้านมืดของภูเขา หยางเป็นด้านสว่าง แต่ต่างก็มีกันและกันอยู่ภายใน ด้านมืดก็มีความสว่างอยู่ ด้านสว่างก็มีความมืดอยู่ เมื่อโลกหมุนไปด้านมืดย่อมกลับกลายเป็นด้านสว่าง สมดุลระหว่างหยิน หยางจึงเป็นภาวะที่เปลี่ยนแปลง


โดยสรุปแล้วปรัชญาเต๋าชี้ให้เห็นว่าสรรพสิ่งในจักรวาลล้วนเปลี่ยนแปลงไปตามหยินกับหยางที่เกื้อหนุนและขัดแย้งกัน ตลอดจนความแปรเปลี่ยนไปมาระหว่างขั้วหยินกับขั้วหยางของสิ่งนั้น ๆ เมื่อการเปลี่ยนแปลงเป็นภาวะของจักรวาล ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และสรรพสิ่ง วิถีแห่งเต๋าจึงหมายถึงการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับสรรพสิ่ง ทั้งจักรวาล ธรรมชาติ และสังคม


การดำรงชีวิตที่ถูกต้อง การจัดกิจการใดๆ ให้ประสบผลสำเร็จ จึงต้องให้สอดคล้องกับพลวัตหยิน-หยางของการนั้นๆ นี่คือปรัชญาเต๋าที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการดำรงชีวิตด้านต่าง ๆ กลายเป็นเต๋าแห่งรักและกามารมณ์ เต๋าแห่งความเป็นผู้นำ รวมทั้งเต๋าแห่งสุขภาพและอาหารนั่นเองค่ะ

โดยทั่วไปความสัมพันธ์ของหยิน-หยาง สำแดงออกเป็นภาวะเย็น-ร้อน-ชื้น-แห้งในร่างกาย เมื่อหยินและหยางในร่างกายเสียสมดุล เนื่องจากความบกพร่องภายในและอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมภายนอก ผู้นั้นก็จะเกิดอาการเจ็บป่วย และมีอาการสำแดงคล้ายกัน เช่น เมื่อหยางมีน้อย หรือหยินมีมากเกิน จะเกิดอาการหนาวถึงหนาวสั่น

เมื่อหยางมากเกินหรือหยินน้อย ร่างกายร้อนเกิน อาการอักเสบและไข้จะปรากฏเป็นต้น เมื่อความเจ็บป่วยเกิดจากยิน-หยางในร่างกายเสียสมดุล การรักษาจึงมุ่งฟื้นฟูสมดุลของหยิน-หยาง ซึ่งมีตำราการแพทย์จีนกล่าวไว้ว่า “โรคร้อนรักษาด้วยยา (สมุนไพร) เย็น โรคเย็นรักษาด้วยยาร้อน…หรือกล่าวว่า….โรคหยาง ใช้หยินรักษา โรคหยิน ใช้หยางรักษา”


“ชี่” พลังขีวิต

ชีวิตของเรา ร่างกายของเรา จะคงอยู่ได้ต้องอาศัยพลังภายในร่างกาย เมื่อใดที่เกิดความเจ็บป่วย อ่อนเพลียไม่มีแรง นั่นแหละคือพลังขับเคลื่อนภายในร่างกายลดลง เมื่อหายป่วยร่างกายฟื้นขึ้นแล้ว กำลังจึงกลับมาใหม่ พลังชีวิตภายในร่างกายคนเรานี้เรียกว่า “ชี่” สามารถสร้างได้ด้วยอาหาร และการฝึกร่างกายกับลมหายใจ

คนเราเกิดมาพร้อมกับพลังชีวิตพื้นฐานที่ได้รับขณะอยู่ในครรภ์มารดา แต่ในการดำรงชีวิตต่อมา ร่างกายจำเป็นที่จะต้องสร้างพลังชี่ขึ้นมาใช้เอง พลังชี่จะเกิดได้ต้องอาศัยการทำงานของอวัยวะ ประกอบกับสารจำเป็น เช่น อาหาร และอากาศ ฯลฯ หากอวัยวะเกิดผิดปกติหรือสารจำเป็นไม่เพียงพอ จะเกิดภาวะ พลังพร่อง เป็นสาเหตุให้เจ็บป่วยได้

แรงเกื้อกูลและต้านทานระหว่างหยินกับหยางในร่างกายช่วยให้พลังชี่ไหลเวียนได้ดี หากหยิน-หยางเสียดุลยภาพ ย่อมกระทบการสร้างและไหลเวียนของพลังชี่ ทำให้เกิดความเจ็บป่วยด้วยภาวะพลังพร่อง เรื่องของพลังชี่จึงเกี่ยวข้องกับหยิน-หยางนั่นเองค่ะ




ที่มา http://www.homeandi.com