หลายคนคงเคยได้ยินชื่อถนนวิภาวดีรังสิต กันดี เพราะว่าเป็นทางออกเมือทางอิสานบ้านเฮา แต่หลายคนคงยังบ่รู้ว่า ชื่อถนนวิภาวดีรังสิต เป็นของหยัง กะเลยเอามาให้อ่านกันค่ะ เรื่องของพระองค์ท่านที่เป็นข้าหลวงใกล้ชิดที่สุดของในหลวงและสมเด็จพระราชินี
มาอ่านประวัติและบันทึกบางส่วนของพระองค์ท่านกันค่ะ


ประสบการณ์เรื่องตามเสด็จ ผลงานชิ้นสุดท้าย ของ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต
แม้ “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต” เจ้าของนามปากกา ว.ณ.ประมวญมารค จะสิ้นพระชนม์ไปยาวนานกว่า 30 ปีแล้วก็ตาม แต่พระปรีชาสามารถด้านการประพันธ์ของพระองค์หญิง ยังคงเป็นที่เลื่องลือ และตราตรึงอยู่ในความทรงจำของนักอ่านทุกเพศทุกวัย...เรียกว่าทั่วฟ้าเมืองไทย ไม่มีใครไม่รู้จักนวนิยายสุดอมตะ “ปริศนา” หนึ่งในผลงานสุดรักของพระองค์หญิง ที่นำเสนอเรื่องราวอย่างสนุกสนานจนคนอ่านวางไม่ลง และนำมาจัดทำเป็นละครกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ก็ดังเปรี้ยงปร้างทุกที!!

ความเป็นเลิศทางด้านการประพันธ์ของพระองค์หญิง อาจสืบทอดมาทางสายเลือด เพราะทรงเป็นพระธิดาใน พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ หรือ น.ม.ส. รัตนกวีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กับ ม.จ.พิมลพรรณ วรวรรณ โดยทรงมีพระนามเดิมว่า ม.จ.วิภาวดี รัชนี เป็นภคินีร่วมมารดาพระองค์เดียวของ ม.จ.ภีศเดช รัชนี พระองค์หญิงทรงเสกสมรสกับ ม.จ.ปิยะรังสิต รังสิต มีธิดา 2 คนคือ ม.ร.ว.วิภานันท์ รังสิต และ ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต

พระองค์หญิง ทรงรับราชการสนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตั้งแต่ปี 2500 ในฐานะที่เป็นนางสนองพระโอษฐ์ จนกระทั่งวันที่ 16 ก.พ. ปี 2520 ได้สิ้นพระชนม์ ระหว่างนำเฮลิคอปเตอร์ที่นำสิ่งของพระราชทานไปเยี่ยมบำรุงขวัญเจ้าหน้าที่ ที่ อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี แล้วรับสั่งให้แวะไปรับตำรวจตระเวนชายแดนที่ได้รับบาดเจ็บจากการโจมตีของผู้ก่อการร้าย จนเป็นเหตุให้เฮลิคอปเตอร์ถูกระดมยิงกระสุนทะลุมาถูกพระองค์

ด้วยแรงบันดาลใจจากการตามเสด็จฯ ทรงได้บันทึกประสบการณ์ที่ทำให้เห็นภาพเบื้องหลังความยากลำบากและพระ อุตสาหะของเจ้านายทั้ง 2 พระองค์ในการเสด็จเยี่ยมราษฎร และบางครั้งก็มีเรื่องราวที่ทำให้อดอมยิ้มไม่ได้

ในฐานะทายาท “ม.ร.ว.ปรียนันทนา” ขอทำหน้าที่รวบรวมบันทึก เรื่องราวการตามเสด็จฯ นำมาถ่ายทอดสู่สายตาผู้อ่านอีกครั้ง โดยประกอบด้วยเรื่องตามเสด็จฯเยือนยุโรป 14 ประเทศ และสหรัฐอเมริกา ครั้งที่ 2 รวมถึง “สปีช” ของพระองค์หญิง ที่ทรงบรรยายในงานต่างๆ เพื่อจัดทำเป็นหนังสือพร้อมภาพประกอบสวยงาม ให้เยาวชนรุ่นหลังได้ซาบซึ้งในพระปรีชาสามารถด้านการประพันธ์

ในหนังสือประวัติศาสตร์เล่มสำคัญ “อนุสรณ์ 30 ปี วิภาวดีรังสิต” ซึ่งจะเสร็จสมบูรณ์ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า ได้มีการหยิบยก “สปีช” ของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต เรื่อง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในงานสมาคมนักเรียนเก่าภาคพื้นยุโรป วันที่ 15 ส.ค. ปี 2515 มาถ่ายทอดเป็นไฮไลต์ว่า ...“ข้าพเจ้าตั้งตัวเองเป็นข้าหลวงเดิม ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพราะได้เคยเฝ้าแหนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ยังทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระราชอนุชา ส่วนองค์สมเด็จฯพระบรมราชินีนาถเล่า ท่านชายปิยะและข้าพเจ้าก็เคยเฝ้า ตั้งแต่ยังทรงเป็นพระธิดาเอกอัครราชทูตไทยอยู่ที่กรุงลอนดอน พระชันษาเพียง 14 หรือ 15 ปี จำได้ว่ายังทรงเป็นเด็กรุ่นสาวที่แช่มช้อยยิ่งนักและทรงเปียโนเพราะนักหนา โดยเฉพาะเพลงของโชแป็ง

เมื่อทั้งสองพระองค์เสด็จกลับเมืองไทยเพื่อทรงกระทำพระราชพิธีอภิเษกสมรส และพระราชพิธีบรมราชาภิเษกใน พ.ศ.2493 ผู้ที่ตั้งตัวเองเป็นข้าหลวงเดิม คือ ท่านชายปิยะและข้าพเจ้าก็เข้าเฝ้าฯอยู่เสมอมิได้ขาด แต่ก็ไม่ได้มีเรื่องอะไรพิเศษพอที่จะเล่า จนกระทั่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เราตามเสด็จไปในการเยี่ยมราษฎรที่จังหวัดต่างๆ ท่านชายในฐานะช่างถ่ายหนังส่วนพระองค์ ข้าพเจ้าในฐานะเป็นราชเลขานุการส่วนพระองค์สมเด็จฯพระบรมราชินีนาถ

การตามเสด็จไปตามที่ต่างๆนั้น ได้มีโอกาสได้รู้เห็นอะไรหลายอย่าง เช่น ครั้งแรกที่เสด็จฯเยือนราษฎรทางภาคอีสานเมื่อราว 15 ปีมาแล้วนั้น ถนนหนทางเมืองเราเป็นเหมือนในปัจจุบันนี้เสียเมื่อไหร่ เฮลิคอปเตอร์หรือก็ยังไม่เคยรู้จักกัน ที่จะเสด็จไปทรงค้างแรมคืน 2 คืน แล้วเสด็จกลับพระนครนั้นอย่าหวังเลย เสด็จทีก็เป็นเวลาถึง 21 วัน เสด็จรถไฟจากสถานีจิตรลดาเป็นขบวนยาว แล้วนึกหรือว่า ทรงได้พักผ่อน หรือในรถไฟพระที่นั่งอย่างที่บุคคลทั้งปวงเขาเดินทางทางรถไฟกัน? หามิได้...ท่านต้องประทับอยู่ตรงช่องพระบัญชรนั้นแหละตั้งแต่เช้าจนดึก เพราะทุกๆสถานีที่รถไฟผ่านมักมีราษฎรมาออแน่นตาเป๋งคอยเฝ้าฯ อยู่แห่งละเป็นพันเป็นหมื่นคน ต้องทรงมีพระราชดำรัสให้ชะลอรถไฟให้ช้าที่สุดหรือให้หยุดสักครู่ เพื่อให้ราษฎรที่เดินมาไกลๆ เพื่อมาคอยเฝ้าฯเป็นชั่วโมงๆ มากมายก่ายกอง ได้เฝ้าเห็นพระพักตร์สักนิดก็ยังดี แม้กลางคืนตั้งแต่ 4 ทุ่มไปจนเช้า ทุกสถานีที่รถไฟพระที่นั่งผ่านก็ยังมีราษฎรมาคอยเฝ้าฯอยู่ในไฟสลัวๆ ของสถานีอย่างเงียบกริบ สถานีเล็กๆ ที่ไม่มีไฟสลัวๆ ก็มีตะเกียงรั้วของชาวบ้าน ซึ่งยอมอดหลับอดนอนมายืนคอยดูอยู่เงียบๆ เขาไม่ยอมส่งเสียงเลย เพราะเกรงว่าจะเป็นการปลุกพระบรรทม ข้าพเจ้าก็ได้มีโอกาสรู้สึกซาบซึ้งในความจงรักภักดีของชาวบ้านมาตั้งแต่ครั้งกระนั้นแล้ว

ส่วนการเสด็จทางรถยนต์ ถนนสมัยนั้นนะหรือ อย่าบอกใครเลย ฝุ่นมี 2 ชนิด สีขาวกับสีแดง ถ้าถนนไม่เป็นฝุ่นก็มักเป็นคลื่นขนาดต่างๆ เวลารถแล่น หัวคนนั่งมักสั่นคลอนไปตามจังหวะต่างๆ ของคลื่นที่ถนน ซึ่งมีทั้งคลื่นทางขวางและคลื่นทางยาว พระราชกรณียกิจมักเริ่มตั้งแต่ 3 โมงเช้า และกว่าจะได้ เข้าบรรทมก็ราว 2 ยาม ตอนกลางวันก็เสด็จเดิน ทางอย่างที่ว่านั่นแหละ หมายกำหนดการแน่นเอี้ยด ต้องทรงแวะทุกแห่งที่รถพระที่นั่งผ่าน ตอนนั้น สมเด็จไม่ได้ทรงใช้ พระกลด เมื่อต้องทรงยืนกลางแดดให้ราษฎรเฝ้าตั้งแต่ 3 โมงเช้าไปจนค่ำคาที่ทุกวัน เป็นเวลาถึง 3 อาทิตย์ แน่ล่ะ พระฉวีก็ย่อมเปลี่ยนสีเป็นเข้มขึ้นทุกวัน วันสุดท้ายถึงกับส้นพระบาทเกรียมไปทีเดียว เพราะตอนนั้นทรงฉลองพระบาทเปิดส้น และเมื่อเสด็จกลับพระนคร น้ำหนักพระองค์เห็นจะลดไปหลายกิโล

อีกไม่นานต่อไปก็เสด็จเยี่ยมราษฎรภาคเหนือ เสด็จถึงสุโขทัยตอนเที่ยงก็เสด็จออกให้ราษฎรเฝ้าทันที เพราะไม่โปรดให้ราษฎรรอนานเกินความจำเป็น ราษฎรมาเฝ้ามากที่สุดในวันนั้นเดินมาไกลเป็นวันๆล่วงหน้า และมาคอยจองที่อยู่ตลอดคืนเต็มที่ว่างหน้าศาลากลาง ข้าพเจ้ายังจำได้ดีว่าการเสด็จออกกลางแดดให้ราษฎรเฝ้าตั้งแต่เที่ยงวันถึงบ่าย 2 โมงเศษ วันนั้นช่างร้อนพรรณนาไม่ถูกเลย นัยน์ตาพร่าไปหมด นางสนองพระโอษฐ์ที่ไม่ใช่ใครอื่นไกลเลย คุณมณีรัตน์ (ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค) อยู่ดีๆ หน้าก็กลายเป็นสีตำลึงสุก แล้วยืนโงนเงนพิกลต้องเลิกตามเสด็จ ตัวก็ร้อนจี๋ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ฝากไว้ที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดจนกว่าจะหายโรค ซึ่งพวกเราเรียกกันว่า “โซ้คสตรัน” (Sunstroke)

นั่นเพียงวันแรกของการเสด็จเยี่ยมราษฎรทางภาคเหนือ มีการตรากตรำทรมาทรกรรมแบบนี้ทุกวันจนครบ 3 อาทิตย์ ถ้าข้าพเจ้าไม่ได้ไปเห็นมาด้วยตาตนเองก็จะไม่เชื่อว่าทั้ง 2 พระองค์ทรงสะบักสะบอมสักเพียงไหน วันหนึ่งเสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งจากฝางไปเชียงราย ด้วยรถยนต์ฝรั่งเศสแบบโก้มาก แต่เผอิญถนนจากฝาง-เชียงรายร้ายเป็นพิเศษ มีฝุ่นสีขาวคลุ้งไปหมด ประตูรถพระที่นั่งตรงข้ามสมเด็จประทับเกิดมีรูโดยไม่มีใครทราบ ฝุ่นก็เลยเข้ามาตรงนั้นเป็นพิเศษ เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จลงจากรถยนต์พระที่นั่งก็เตรียมพระองค์จะเสด็จออกให้ราษฎรเฝ้าอย่างที่เคย แต่นายอำเภอซึ่งยืนคอยรับเสด็จอยู่ทำหน้าตื่น อึกอักๆ กราบบังคมทูลว่า ควรจะเสด็จเข้าไปทรงพักผ่อนข้างบนเสียก่อน พอดีสมเด็จเหลือบพระเนตรไปเห็นพระเจ้าอยู่หัวฝุ่นเต็มพระองค์ ส่วนพระเจ้าอยู่หัวก็ทำพระพักตร์พิกลเมื่อทอดพระเนตรเห็นสมเด็จ ในที่สุดก็เลยเสด็จขึ้นไปข้างบนด้วยกันทั้ง 2 พระองค์

ฝุ่นวันนั้นทำเอาแย่ เปลี่ยนสีพระเกศาสมเด็จเป็นหงอกขาวไปทั้งพระเศียร พระพักตร์โดนฝุ่นโปะจนดูเหมือนถูกใครเอาผงหนาๆ สาด ราษฎรวันนั้นเห็นพระทัยท่านเป็นพิเศษ เข้ามาลูบพระชงฆ์พระบาท คนแก่ๆก็ทูลถามท่านว่า “แม่หิวไหมจ๊ะ” ซึ่งหิวของเขาแปลว่า “เหนื่อย”

หลังจากที่เสด็จพระราชดำเนินครบทุกภาคแล้ว ก็เสด็จเยือนต่างประเทศทางราชการตั้งแต่ พ.ศ.2502-2510 การเสด็จพระราชดำเนินทุกประเทศ จุดหมายสำคัญก็คือ เพื่อสร้างความเข้าใจกันระหว่างประมุขของประเทศ และเพื่อให้ชาวต่างประเทศรู้จักเมืองไทยมากขึ้น และได้รับผลดีทุกครั้งที่เสด็จฯ แม้แต่นิวยอร์กซึ่งประชาชนเย็นชาต่อทุกสิ่งทุกอย่างในโลก ก็อบอุ่นในการรับเสด็จทุกครั้ง

แต่ข้าพเจ้าได้โดนกับตัวมาบ่อยๆ ว่าฝรั่งบางประเทศที่ถวายการต้อนรับน่ะ ช่างรู้เรื่องเมืองเราน้อยเหลือทน บางคนถามออกมาได้ว่าเมืองไทยอยู่ที่ไหน ครั้งหนึ่งในประเทศแห่งหนึ่งในยุโรป ผู้ที่ทางรัฐบาลส่งมาเป็นนางสนองพระโอษฐ์ตามเสด็จ ในคืนแรกแม่นั่นก็ขอพบแล้วกระซิบกระซาบถามด้วยความหวังดีว่า ข้าหลวงสมเด็จเปิดน้ำก๊อกเป็นหรือไม่ กลัวจะไม่มีน้ำใช้ เขาต้องเห็นภาพเราอยู่กระต๊อบกลางป่า ท่ามกลางเสือและช้าง แล้วตักน้ำในแม่น้ำซึ่งเต็มไปด้วยจระเข้แน่นอนทีเดียว เมื่อแรกน่ะ ข้าพเจ้าโกรธกรี๊ดอยู่ในใจ แต่ในที่สุดปลงตกในความทุเรศของฝรั่ง ก็เลยตอบอย่างใจเย็นว่า “คงจะเปิดเป็นละกระมัง เพราะเมืองไทยก็ใช้น้ำก๊อกมานานหลายปีดีดักแล้วเหมือนกัน” แล้วก็ยิ้มหวานขอบอกขอบใจเขา

ขณะที่ฝ่ายพวกเราที่ตามเสด็จแต่ละคนน่ะ สมเด็จก็ได้ทรงกำชับให้แต่ละคนศึกษา เกี่ยวกับประเทศที่จะไปนั่นอย่างละเอียด ลออ หมายกำหนดการของแต่ละวันเราต้องรู้เรื่องราวละเอียด จะนั่งรถคันไหน เวลากินเลี้ยงจะนั่งข้างใคร ฝ่ายเขาผู้เป็นเจ้าของบ้านเชิญเสด็จมาทั้งทีจะเรียนรู้เรื่องเมืองไทยสักนิดก็ไม่ได้

ครั้งหนึ่งในออสเตรเลีย สมเด็จฯพระบรมราชินีนาถ ในฐานะที่ทรงเป็นองค์สภานายิกาของสภากาชาดไทย มักถูกเกณฑ์ให้เสด็จทรงเยี่ยมโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดของเขา ข้าพเจ้าได้อ่าน pamphlet มาก่อนแล้วว่าที่โรงพยาบาลนั้นเขาดีเด่นอย่างไรบ้าง ขณะที่ข้าพเจ้าก็เดินทอดน่องตามเสด็จไปช้าๆ ทันใดนั้นเองก็มีผู้มาเดินขนาบข้างข้างละคน แล้วคนหนึ่งก็เริ่มถามข้าพเจ้าว่า “เมืองไทยของท่านมีโรงพยาบาลหรือไม่?” ข้าพเจ้าก็นึกปลงอนิจจังขึ้นมาทันที นับหนึ่งถึงสิบในใจก่อนแล้วจึงตอบว่า “มี” เขาก็ถามต่อไปว่า “หมอล่ะ มีไหม?” ข้าพเจ้าก็ตอบว่า “มี หมอก็มีทั้งผู้หญิงผู้ชาย” ทั้ง 2 คน มองหน้ากันอย่างแปลกใจ อย่างนั้นรึ “แล้วเขาทำอะไรได้บ้างหมอเมืองท่านน่ะ ผ่าตัดได้ไหม?” ข้าพเจ้านึกสนุกขึ้นมาแล้วตอนนี้ ก็เลยทำหน้าเฉยตอบว่า “ผ่าตัดก็ทำได้ ผ่าตัดหัวใจก็ได้ สมองก็ได้” ทั้ง 2 คน อึ้งไปเป็นครู่ คนหนึ่งก็ถามว่า “โรงพยาบาลเมืองท่านน่ะอย่างใหญ่ที่สุดมีกี่เตียง” ข้าพเจ้าทำหน้าเฉยตามเคยตอบว่า “มีหลายโรงพยาบาลที่มีเตียงไม่ต่ำกว่า 2,000 เตียง” เพราะเพิ่งอ่านมาเมื่อกี้นี้เองว่าที่นั่นของเขามีเพียง 600 เตียงเท่านั้น และว่าเป็นโรงพยาบาลใหญ่ที่สุดของเขาเสียด้วย

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2510 เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จ ก็ไม่ได้เสด็จออกไปเยี่ยมกรายต่างประเทศอีกเลย มัวแต่เสด็จเยี่ยมทหาร ตำรวจและราษฎรตามภาคต่างๆ โดยเฉพาะตามแหล่งที่ถูกคุกคาม หรือที่ราษฎรเดือดร้อนด้วยภัยธรรมชาติ ข้าพเจ้ายังจำได้ ตอนที่เสด็จไปทรงเยี่ยมทหารและราษฎรที่ห่างไกลที่บ้านปอน ทุ่งช้าง จ.น่าน ตอนเย็นก่อนเสด็จฯนั้นเอง หน่วยแห่งนี้ถูกโจมตีอย่างรุนแรงถึงบาดเจ็บล้มตายไปหลายคน ทางกรุงเทพฯทราบเข้าก็ขอร้องให้ทรงงด ก็ไม่ทรงยอมเพราะทรงนัดไว้แล้ว ไม่โปรดให้ใครคอยเก้อ ตอนเช้าวันรุ่งขึ้นทางผู้หลักผู้ใหญ่ ขอพระราชทานพระกรุณาฯให้ทรงเปลี่ยนไปประทับ ฮ. ลำอื่น ให้คนอื่นนั่ง ฮ. พระที่นั่งแทน ก็ไม่ทรงยอมอีก เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปถึงก็ทรงกระทำตามหมายกำหนดการทุกอย่าง ซึ่งตามทางเสด็จมีสะเก็ดระเบิดสดๆ ร้อนๆ ยังตกระเกะระกะทั่ว ลูกระเบิดที่ไม่ระเบิดก็ยังไม่มีเวลาขุดออก

แต่ไม่ว่าพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จแห่งใด สมเด็จเป็นเสด็จไปด้วยทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเสี่ยงภัยอันตรายสักเพียงไรก็ไม่ทรงย่อท้อ ท่านไม่เคยทรงมีวันหยุดอย่างคนอื่นเขา เห็นทรงกระทำราชการทุกวันทุกโอกาส ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า ทั้งสองพระองค์ทรงเป็นผู้ที่ทำงานหนักที่สุดในเมืองไทย...”

และนี่คือส่วนหนึ่งของบันทึกอันแสนล้ำค่าจากความทรงจำของข้าหลวง ผู้ถวายงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาทใกล้ชิดที่สุด.

จาก หน้าข่าวสังคและสตรี หนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับประจำวันที่ 10 กุมภาพันธ์