++ การรักและเข้าใจผู้อื่น ++



เวลาไม่สบอารมณ์ เรามักมองออกไปนอกตัว

เพื่อหาตัวการ แต่กลับลืมมองตัวเอง

ด้วยเหตุนี้คนอื่นจึงเป็นฝ่ายผิดอยู่ร่ำไป

เขาอาจจะเป็นตัวการก็ได้

แต่เราเองล่ะ ไม่มีส่วนผิดบ้างเลยหรือ ?


เมื่อใดที่เราหันมาถามตัวเองว่า

ทำไมถึงไม่อยู่บ้านในวันอาทิตย์

เพราะเหตุใดจึงออกจากบ้านแต่เช้า


เราก็จะพบว่า เราเองก็ไม่ต่างจากคนอื่น

และคนอื่นก็ไม่ได้ทำอะไรต่างจากเรา

ถึงตอนนี้ที่เคยคิดจะก่นด่าเขาก็คงต้องเลิก


สาเหตุที่ต้องเลิกนั้น อาจจะเพราะว่า

ขืนด่าเขาก็เท่ากับด่าตัวเองด้วย

แต่บางครั้งเราก็เลิกก็เพราะเข้าใจคนอื่นได้มากขึ้นว่า

เขาเองก็คงมีธุระจำเป็นที่จะต้องเดินทางเช่นเดียวกับเรา


ในทางตรงข้าม ถ้าเราคอยสอดส่ายหาตัวการว่า

ใครทำให้ฉันทุกข์ ใครทำให้งานของฉันล้มเหลว


สิ่งที่จะติดตามมาก็คือความร้อนใจขุ่นเคืองใจ

และมองหน้าใครไม่สนิท เพราะเห็นเขาเป็นผู้ผิดอยู่ตลอดเวลา


..................................


จะไม่ดีกว่าหรือ แทนที่คอยแต่จะถามว่า ใคร...ใคร...
เราเปลี่ยนคำถามเสียใหม่ว่า

ทำไมฉันจึงทุกข์ ทำไมงานของฉันจึงไม่สำเร็จ


และถ้าเราไม่เข้าข้างตัวเองจนเกินไป หากใจกว้างสักนิด

ก็ลองย้อนมาสำรวจตัวเองว่า

เรามีส่วนสร้างปัญหาดังกล่าวให้แก่ตนเองหรือไม่

บางทีเราจะเข้าใจตัวเองได้ชัดขึ้น

ความเข้าใจนี้ก็คือตัวปัญญานั่นเอง


.........................................


ผู้มีปัญญา ใฝ่รู้ใฝ่ศึกษา

เวลามีอะไรกระทบจิตใจของตนเองจะไม่โต้ตอบออกไปในทันที

ไม่ว่าจะเป็นการเพ่งโทษผู้อื่น

หรือด่าว่าทำร้ายเขาจะโดยวจีกรรมหรือกายกรรมก็แล้วแต่


หากแต่จะกลับมาถามตนเองว่า ทำไมถึงโกรธ

เราหงุดหงิดเพราะเขาเก่งกว่าเรา เด่นกว่าเราใช่ไหม


หากเราไม่พอใจในถ้อยคำของเขา

แทนที่เราจะใช้คารมสวนกลับให้เจ็บแสบ

จะดีกว่าไหม หากเราย้อนมามองตนว่า

เราเป็นอย่างที่เขาว่าหรือเปล่า


จิตใจของเราจะกลายเป็นโรงละครน้อยๆ เลยทีเดียว


หากเรารู้จักมองตน

เราจะเห็นตัวร้ายขี้อิจฉา

พระเอกใจบุญ นางเอกเจ้าแง่แสนงอน

และนักเลงจอมเจ้าชู้


เราจะสวมบทไหน เวลาไหนก็เห็นได้ถนัดถนี่

ไม่ต้องมีอะไรมาปิดบังอำพราง

หรือคอยชักใยอยู่เบื้องหลังอีกต่อไป

เห็นแล้วก็อดสมเพชตัวเองไม่ได้


แต่ละครโรงนี้ จะมีจำเพาะเรื่องหมองหม่นก็หาไม่

เรื่องขันชวนหัวเราะก็มีเหมือนกัน

โดยเฉพาะเวลาเราทำอะไรเปิ่นๆ โดยไม่มีใครเห็น


โดยนัยนี้ชีวิตจะไม่น่าเบื่ออีกต่อไป

เพราะกลายเป็นละครหลากรสชาติ

ส่วนละครและเรื่องประโลมโลกที่เน้นแต่ความบันเทิง

จนได้รับสมญาว่า "น้ำเน่า"

ก็จะกลับกลายเป็นเรื่องน่าศึกษาและเต็มไปด้วยบทเรียนชีวิต


เวลาเรารู้สึกไม่ได้ดังใจที่ "ดาวพระศุกร์" หูเบา

ไม่รู้จักเข็ดหลาบเสียทีกับเลห์กลและลมปากของ "มาหยารัศมี" นั้น

เราจะได้คติสอนใจเป็นอย่างดี หากย้อนมาดูตัวเองว่า


บ่อยครั้งเพียงใดที่เราหลงเชื่อถ้อยคำของผู้อื่น

โดยไม่สอบถามเรื่องราวให้แน่ชัดจากผู้อื่นที่ถูกพาดพิง


ถ้าหากเรา "ปากหนัก"

คือรู้จักสอบถามหาข้อเท็จจริงเสียบ้างชีวิตก็ยากจะพลาดพลั้ง

อย่างน้อยก็คงไม่เกิดปัญหาอย่างที่ "คุณภาคย์ "

และนางเอกสาวต้องประสบจนทำให้ผู้ชมใจหายใจคว่ำไปหลายครั้ง


......................................


การใฝ่พิจารณาตนไม่ใช่เรื่องของนักบวช

ที่หลีกเร้นในป่าเขาเท่านั้น

ชีวิตในเมืองใหญ่ซึ่งมากด้วยกิจธุระ

ก็ต้องการศิลปะชนิดนี้เหมือนกัน


ไม่ว่าจะในบ้านหรือในที่ทำงาน

ก็สามารถเป็นสถานบ่มเพาะปัญญา

และเจริญเมตตาแก่เราได้ทั้งสิ้น


แม้แต่บนท้องถนนอันพลุกพล่าน

หากเราเกิดจะหงุดหงิดขึ้นมาขณะขับรถ

เนื่องจากต้องคอยชะลอความเร็วให้คนข้ามถนน

แทนที่จะต่อในใจว่า


ทำไมถึงมาข้ามเอาตอนที่เราจะขับรถผ่าน

ทำไมถึงเดินช้าเหลือเกิน

ไม่รู้หรือว่าคนขับรถทุกคนก็ต้องรีบทั้งนั้น

ทำไมไม่รอให้ถนนว่างเสียก่อนแล้วจึงค่อยเดิน

คุณเองก็ไม่รีบอยู่แล้วไม่ใช่หรือ

ไม่งั้นก็คงไม่มาเดินแบบนี้หรอก ฯลฯ


แต่หากเรามาลองนึกถึงความรู้สึกของตนเอง

เวลาเป็นฝ่ายเดินถนนบ้าง

บางทีใจเราอาจสงบลงได้เพราะเวลาเราข้ามถนน


เราก็คงอดนึกไม่ได้ว่า

คนขับต่างหากที่ควรจะเอื้อเฟื้อคนข้ามถนน

เพราะเราไปไหนมาไหนก็ช้าอยู่แล้ว

ขืนต้องมารอให้ถนนว่างเสียก่อนก็จะยิ่งช้าเข้าไปใหญ่


คุณเองก็มีรถช่วยทำเวลาอยู่แล้ว

จะเร่งรีบกันไปถึงไหนเล่า ฯลฯ


..........................


ถ้าเราเห็นตน เราก็จะรู้จักตน
เราก็จะรักผู้อื่น


และเมื่อเรารักผู้อื่น
ก็เท่ากับเป็นการรักตนไปในตัวด้วย


เพราะไม่มีอะไรที่จะทำใจให้เป็นสุขเท่ากับ
"การรักและเข้าใจผู้อื่น"


___________________________________


พระไพศาล วิสาโล "สุขใจในนาคร
ศิลปะแห่งการอยู่เมืองอย่างมีความสุข". กรุงเทพฯ : เคล็ดไทย จำกัด,2538.