วิธีพิสูจน์จิต (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)



การฝึกหัดเบื้องต้นโดยมากก็มักถูกกับกรรมฐาน
บทอานาปานสติ คือ กำหนดลมหายใจเข้าออก

โดยมีสติกำกับรักษาจิตอย่าให้เผลอในขณะที่ทำ
ทำใจให้รู้อยู่กับลมเข้าลมออกเท่านั้น
ไม่คาดหมายผลที่จะพึงได้รับมีความสงบเป็นต้น
ทำความรู้สึกอยู่กับลมเข้า ลมออกธรรมดา

อย่าเกร็งตัวเกร็งใจจนเกินไป จะเป็นการกระเทือนสุขภาพทางกายให้รู้สึกเจ็บนั้นปวดนี้
โดยหาสาเหตุไม่เจอ ซึ่งความจริงสาเหตุก็คือการเกร็งตัวเกร็งใจจนเกินไปนั่นเอง

ควรมีสติรับรู้อยู่ธรรมดา ใจเมื่อได้รับการรักษาด้วยสติจะค่อยๆ สงบลง ลมก็ค่อยละเอียดไปตามใจที่สงบตัวลง ยิ่งกว่านั้นใจก็สงบจริงๆ ลมหายใจขณะที่จิตละเอียดจะปรากฏว่าละเอียดอ่อนที่สุด จนบางครั้งปรากฏว่าลมหายไป คือลมไม่มีในความรู้สึกเลย ตอนนี้จะทำให้นักภาวนาตกใจกลัวจะตายเพราะลมหายใจไม่มี

เพื่อแก้ความกลัวนั้น ควรทำความรู้สึกว่า แม้ลมจะหายไปก็ตาม เมื่อจิตคือผู้รู้ยังครองร่างอยู่ ถึงอย่างไรจะไม่ตายแน่นอน ไม่ต้องกลัว อันเป็นเหตุเขย่าใจตัวเองให้ถอนขึ้นจากความละเอียดมาเป็นจิตธรรมดา ลมหายใจธรรมดา ซึ่งทำให้เกิดความเสียใจในภายหลัง

ถ้ากำหนดเฉพาะลมหายใจเป็นอารมณ์อย่างเดียวไม่สนิทใจ จะตามด้วยการบริกรรมพุทโธ ก็ได้ไม่ผิด ผู้ชอบบริกรรมเฉพาะธรรมบทใดบทหนึ่ง เช่น พุทโธ ก็ได้ตามอัธยาศัยชอบไม่ขัดแย้งกัน สำคัญที่ให้เหมาะกับจริต และขณะภาวนาขอให้มีสติรักษา อย่าปล่อยให้ใจส่งไปตามอารมณ์ต่างๆ ก็เป็นอันถูกต้องในการภาวนา

คำว่า จิตใจ มโน หรือผู้รู้เป็นอันเดียวกัน คือเป็นไวพจน์ของกันและกัน ใช้แทนกันได้ เช่น กิน-รับประทานเป็นต้น เป็นความหมายอันเดียวกันใช้แทนกันได้ ตามปกติใจเป็นสิ่งละเอียดมากยากจะจับตัวจริงได้ ใจเป็นประเภทหนึ่งต่างหากจากร่างกายทุกส่วน

แม้อาศัยกันอยู่ก็มิได้เป็นอันเดียวกัน ร่างกายที่ตั้งอยู่ได้ย่อมขึ้นอยู่กับใจเป็นผู้รับผิดชอบ ถ้าใจออกจากร่างไปเมื่อใดร่างกายก็หมดความหมายลงทันที โลกเรียกว่าตาย แต่ความรู้คือใจนี้ต้องไม่ตายไปด้วยร่างกายที่สลายตัวไป

เมื่ออยากทราบความจริงจากใจ จำต้องมีเครื่องมือพิสูจน์ เครื่องมือพิสูจน์ใจได้แก่ธรรมเท่านั้น นอกนั้นไม่มีสิ่งใดจะสามารถพิสูจน์ได้ การภาวนาเป็นการพิสูจน์ใจโดยตรง ผู้มีสติดีมีความเพียรมาก มีทางพิสูจน์ความจริงของใจให้เห็นชัดเจนได้เร็วยิ่งขึ้นผิดธรรมดา

คำว่าเครื่องมือคือธรรมนั้น โปรดทราบว่า ส่วนใหญ่คือสติปัฏฐาน ๔ และสัจธรรม ๔ เป็นต้น ส่วนย่อยแต่จำเป็นทั้งในขั้นเริ่มแรกและขั้นต่อไป ได้แก่อานาปานสติ หรือพุทโธ เป็นต้น เป็นบทๆ ไป ที่ผู้ภาวนานำมากำกับใจแต่ละบทละบาท เรียกว่าเครื่องมือพิสูจน์ใจทั้งสิ้น

เมื่อใจพร้อมกับเครื่องมือคือธรรมบทต่างๆ ได้รวมกันเข้าเป็นคำภาวนา มีสติเป็นผู้ควบคุมให้ระลึกรู้อยู่กับลมหายใจ หรือธรรมบทใดก็ตามโดยสม่ำเสมอ ไม่ให้จิตเผลอออกไปสู่อารมณ์ภายนอก

ไม่นานกระแสของใจที่เคยสร้างอยู่กับอารมณ์ต่างๆ จะค่อยรวมตัวเข้ามาสู่จุดเดียว คือที่กำลังทำงานโดยเฉพาะได้แก่คำภาวนา ความรู้จะค่อยๆ เด่นขึ้นในจุดนั้น และแสดงผลเป็นความสงบสุขขึ้นมาให้รู้เห็นได้อย่างชัดเจน

: หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
http://www.luangta.com/thamma/thamma...D=2610&CatID=3